สุภาษิตคำพังเพยลางเนื้อชอบลางยา ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ล. ลางเนื้อชอบลางยา

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยลางเนื้อชอบลางยา

ที่มาของสำนวนนี้คือ คำว่า “ลาง” ในสำนวนนี้ เป็นคำไทยโบราณหมายถึง “บาง” ส่วนคำว่า “เนื้อ” หมายถึงร่างกายหรือตัวคน สำนวนนี้มาจากการรักษาโรค โดยคนป่วยบางคนใช้ยาชนิดหนึ่งหาย แต่พอนำยาชนิดเดียวกัน ไปใช้กับคนป่วยอีกคนอาจจะไม่ได้ผล

นบางคนถูกกับยาบางอย่าง ต่างคนก็ถูกกับยาต่างชนิดกัน เช่น เวลาเป็นไข้ คุณแม่ชอบรับประทานยาแอสไพริน แต่บางคนต้องรับประทานยาพาราเซตามอล อย่างนี้แหละที่คนโบราณเขาว่าลางเนื้อชอบลางยา

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ ของสิ่งเดียวกันคนหนึ่งชอบ แต่อีกคนหนึ่งไม่ชอบ บางสิ่งบางอย่างใช้ได้กับบางคนแต่ไม่สามารถใช้ได้กับทุกคนเสมอไป หรือของสิ่งเดียวกันแต่ละคนจะชอบของสิ่งนี้มากน้อยไม่เท่ากัน เพราะแต่ละคนมีรสนิยมแตกต่างกัน

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยลางเนื้อชอบลางยา

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตลางเนื้อชอบลางยา

  • ผมชอบเล่นกีต้าร์ ส่วนผมชอบตีกลอง จะให้ผมไปตีกลองคงไม่ดีเท่าเพื่อน จะให้เพื่อนมาเล่นกีต้าร์แทนก็ไม่ดีเท่าผม แบบนี้เหมือนลางเนื้อชอบลางยา ชอบใครชอบมันต่างกัน เอาสิ่งที่ตัวเองถนัดแล้วมาเล่นด้วยกันจะดีกว่า
  • นี่อาทิตย์! เธอชอบผู้หญิงคนนี้ได้อย่างไรนะ ชอบเอาแต่ใจตัวเอง สวยก็ไม่สวย แต่ก็นั่นแหละนะ ลางเนื้อชอบลางยา ความชอบของเธอ เอาที่สบายใจ
  • ฉันพาคุณยายไปหาหมอเพื่อไปรักษาโรคผิวหนัง หมอคนนี้เป็นหมอที่มีชื่อเสียงทางด้านการรักษาโรคผิวหนัง คุณหมอจัดยาให้คุณยาย ซึ่งเป็นยาชนิดเดียวกันกับที่รักษาคนอื่นๆ หาย เมื่อคุณยายกินยาตามหมอสั่งเป็นเดือนอาการก็ไม่ดีขึ้น ฉันจึงพาคุณยายไปโรงพยาบาลที่เพื่อนแนะนำ กินยาที่หมอสั่ง 2 – 3 วัน คุณยายก็หายป่วย นี่แหละที่โบราณว่าลางเนื้อชอบลางยา
  • ผมชอบกินแฮมเบอร์เกอร์ แฟนชอบกินพิซซ่า เวลาจะไปกินอาหารสองอย่างนี้ชอบทะเลาะกันทุกที นี่แหละนะเหมือนโบราณเขาว่าลางเนื้อชอบลางยา สุดท้ายเวลาจะไปกินก็ไม่ได้กินทั้งคู่ จบที่อาหารตามสั่ง
  • เสื้อผ้าแบบเดียวกันแท้ๆ คนหนึ่งชอบแต่อีกคนไม่ชอบ แบบนี้เขาเรียกว่าลางเนื้อชอบลางยา

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยละเลงขนมเบื้องด้วยปาก ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ล. ละเลงขนมเบื้องด้วยปาก

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยละเลงขนมเบื้องด้วยปาก

ที่มาของสำนวนนี้คือ เปรียบเปรยถึงการทำขนมเบื้องไทย ซึ่งดูเผินๆ เหมือนกับว่าทำไม่ยากแต่ที่จริงแล้ว ต้องใช้ความชำนาญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะขั้นตอนการละเลงแป้งบนกะทะให้เป็นแผ่น หากไม่ชำนาญจริงแผ่นแป้งจะเรียบบางไม่เท่ากัน และคำว่า “ปาก” ในสำนวนนี้หมายถึงการพูดให้ดูเหมือนทำง่ายๆ แต่การทำจริงนั้น ต้องลงมือทำตามประสบการณ์ความชำนาญ ไม่ใช่ทำด้วยการพูด (ปาก)

และยังมีปรากฏสำนวนละเลงขนมเบื้องด้วยปาก ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน นางสร้อยฟ้านางศรีมาลาทำขนมเบื้อง ดังนี้

ศรีมาลาว่าชะช่างร้อนจิต
พระอาทิตย์ยังไม่ลับดับแสงเหลือง
เด็กเด็กมันยังตื่นครื้นทั้งเมือง
ขนมเบื้องทำด้วยปากยากอะไร

นางศรีมาลาพูดเป็นนัยกับจมื่นไวยว่าอย่าดีแต่พูด เหมือนกับการละเลงขนมเบื้องด้วยปาก
นางสร้อยฟ้าได้ยินนางศรีมาลาพูดดังนั้น ก็โกรธคิดว่านางศรีมาลาพูดทับถมตนเรื่องการทำขนมเบื้อง จึงนำมาซึ่งเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันเนืองๆ

ต้นเรื่องมีอยู่ว่าจมื่นไวยสั่งให้นางสร้อยฟ้าและนางศรีมาลาทำขนมเบื้องไทย

สร้อยฟ้าศรีมาลาว่าเจ้าคะ
ตั้งกระทะก่อไฟอยู่อึงมี่
ต่อยไข่ใส่น้ำตาลที่หวานดี
แป้งมีเอามาปรุงกุ้งสับไป

ทั้งสองนางจึงขมีขมันทำขนมเบื้องไทยอย่างสุดฝีมือ คงจะทำทั้งไส้หวานและไส้กุ้ง โดยพื้นเพของนางศรีมาลาเป็นคนภาคกลาง จึงมีทักษะการทำขนมเบื้องได้ดี ส่วนนางสร้อยฟ้าเป็นราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ ไม่เคยทำขนมเบื้องมาก่อน แม้จะพยามจนสุดฝีมือแล้วขนมเบื้องที่นางทำออกมาก็ยังได้แค่นี้

ศรีมาลาละเลงแผ่นบางบาง
แซะใส่จานวางออกไปให้
สร้อยฟ้าไม่สันทัดอึดอัดใจ
ปามแป้งใส่ไล้หน้าหนาสิ้นดี
พลายชุมพลจึงว่าพี่สร้อยฟ้า
ทำขนมเบื้องหนาเหมือนแป้งจี่
พระไวยตอบว่าหนาหนาดี
ทองประศรีว่ากูไม่เคยพบ
ลาวทำขนมเบื้องผิดเมืองไทย
แผ่นผ้อยมันกระไรดังต้มกบ
แซะม้วนเข้ามาเท่าขาทบ
พลายชุมพลดิ้นหรบหัวร่อไป

นางสร้อยฟ้าถูกเย้ยหยันเรื่องการทำขนมเบื้อง จึงเกิดเป็นปมอยู่ในใจ เมื่อได้ยินแว่วๆ ว่า “ละเลงขนมเบื้องด้วยปาก” จึงแค้นเคือง ประกอบกับนางไม่เข้าใจความหมายของสำนวนไทย “ละเลงขนมเบื้องด้วยปาก” ว่ามีความหมายอย่างไร ทำให้ความสงบสุขในครอบครัวของจมื่นไวยต้องพินาศลงด้วยขนมเบื้องเป็นเหตุ

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ ดีแต่พูด แต่ทำไม่ได้ หรือผู้ที่พูดว่าทำสิ่งนั้นๆ ได้โดยง่าย ดูง่ายไปเสียหมด แต่พอเวลาทำจริงกลับทำไม่ได้อย่างที่พูดไว้ได้

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยละเลงขนมเบื้องด้วยปาก

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตละเลงขนมเบื้องด้วยปาก

  • ผู้ชายคนนั้นดีแต่พูดไปเรื่อย อะไรๆก็ง่ายไปหมด แต่พอเอาเข้าจริง กลับทำอะไรไม่เป็นเลยสักอย่าง ตรงกับสำนวนไทยที่ว่าละเลงขนมเบื้องด้วยปาก
  • คนพวกนี้ “ละเลงขนมเบื้องด้วยปาก” เอาเรื่องความเป็นความตายของประเทศชาติ เรื่องไม่ดี ยุยงส่งเสริมให้คนในชาติ มาสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย ซ้ำเติมการแก้ปัญหาในสถานการณ์วิกฤติระดับโลก
  • นักเรียนจะต้องฝึกหัดทำ และ ลงมือปฏิบัติทำอย่างจริงๆ จังๆ จนเกิดความแคล่วคล่องว่องไว และชำนิชำนาญ อย่าให้คนอื่นพูดได้ว่าลูกศิษย์ของครูละเลงขนมเบื้องด้วยปาก
  • สมชายเขาเป็นช่างสร้างบ้านที่ไม่มีใครกล้าจ้าง เพราะดีแต่พูด เป็นพวกละเลงขนมเบื้องด้วยปาก พูดดี หลักการดี แต่ไม่สามารถทำตามที่พูดได้ อย่างเรื่องการสร้างบ้าน ไม่มีหลังไหนเลยที่สร้างออกมาได้ตามแบบที่ตกลงกันไว้ในสัญญา
  • อยู่ให้ห่างกับพวกละเลงขนมเบื้องด้วยปาก นอกจากจะเป็นพิษแล้ว ยังดูดพลังดีๆ ในร่างกายและจิตใจของเราไปด้วย ทำให้เปลืองเวลาชีวิตเราเป็นอย่างมาก

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยรีดเลือดกับปู ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ร. รีดเลือดกับปู

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยรีดเลือดกับปู

ที่มาของสำนวนนี้คือ สำนวนนี้ได้เปรียบเปรยถึงโดยธรรมชาติปูเป็นสัตว์ที่ไม่มีเลือด การที่จะรีดเลือดจากตัวปู ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยเพราะปูไม่มีเลือด

แท้จริงแล้ว ปูนั้นมีเลือดแต่เลือดของปูนั้นไม่ได้มีสีแดงเหมือนกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เลือดของปูนั้นมีสีน้ำเงินหรือสีฟ้าจางๆ ออกใสจนเราไม่สามารถมองเห็นว่าเลือดของปูเป็นอย่างไร ซึ่งอาจทำให้เราเข้าใจมาตลอดว่าพวกมันไม่มีเลือด เลือดของปูนั้นไม่เหมือนกับเลือดของเลี้ยงลุกด้วยนมเพราะเลือดของปูมี ฮีโมไซยานิน (Haemocyanin) เป็นสารที่มีสีน้ำเงินซึ่งเป็นสารประกอบของธาตุทองแดง ในทางการแพทย์ได้พบว่าเลือดสีน้ำเงินของสัตว์ทะเลนั้นมีประโยชน์มากมาย เช่น การนำเลือดสีน้ำเงินของแมงดาทะเลมาหาเชื้อแบคทีเรียในวัคซีน โปรตีนที่ได้จากเลือดแมงดาทะเลมีคุณสมบัติไวต่อสิ่งเร้าเป็นพิเศษ จนสามารถจับเชื้อแบคทีเรียที่มีปริมาณน้อยนิดได้ ส่วนเลือดของสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมมีสีแดงนั่นก็เพราะว่ามี ฮีโมโกบิน เป็นส่วนประกอบนั่นเอง

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ การบังคับขู่เข็ญเพื่อเอาผลประโยชน์กับผู้ที่ไม่มีความสามารถที่จะให้สิ่งที่ต้องการได้ เช่น การรีดไถเงินจากคนที่มีความยากจน

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยรีดเลือดกับปู

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตรีดเลือดกับปู

  • ตำรวจทลายขบวนการรีดเลือดกับปู คิดดอกเบี้ยโหด กับการกู้เงินนอกระบบ เริ่มจากไปกู้เงินกลุ่มขบวนการเหล่านี้มา 1 หมื่นบาท ต้องจ่ายดอกเบี้ยสุดโหดร้อยละ 60 จ่ายดอกรายวัน 200 บาท เฉพาะดอกเบี้ยต้องจ่ายเดือนละ 6,000 บาท!
  • นักการเมืองถก! เรื่องการงดดอกเบี้ย เบี้ยปรับ และผู้ค้ำประกัน เป็นนโยบายหลักของพรรค เราจะแก้กฎหมายนี้เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสศึกษาเล่าเรียน ไม่ใช่รีดเลือดกับปู กฎหมายที่ออกมาต้องให้ประชาชนมีความสุข อยู่เย็นเป็นสุข
  • กลุ่มวัยรุ่นอันธพาลแถวบ้านกลุ่มหนึ่งวันๆไม่ยอมทำอะไร เอาแต่นั่งมั่วสุมกันอยู่ปากซอย และคอยรีดเลือดกับปู โดยเวลามีเด็กตัวเล็กๆเดินผ่านจะโดยขู่เข็ญเอาเงิน ซึ่งเด็กไม่มีเงินจะให้ อยู่มาวันหนึ่งวัยรุ่นกลุ่มนี้ก็โดยตำรวจจับ เพราะมีพลเมืองดีไปแจ้งตำรวจ
  • ฝากถึงคนมีอำนาจในการขึ้นภาษีการใช้โซเดียม คิดใหม่อีกทีดีกว่ามั้ย เหลือข้าวคลุกน้ำปลาไว้ให้คนจนๆ ได้กินเถอะครับ อย่ารีดเลือดกับปู เลย ต้นทุนเพิ่ม ยังไงผู้ซื้อก็แบกรับอยู่ดี
  • อย่ารีดเลือดกับปู! กมธ.ข้างน้อยค้านสุดตัว หลังมติที่ประชุม คงดอกเบี้ย ค่าปรับ กยศ.

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยรักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ร. รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยรักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ

ที่มาของสำนวนนี้คือ “รักยาวให้บั่น” หมายถึง ถ้าจะรักให้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกันยืนยาวแล้วให้รู้จัก “บั่น” คือ อย่าต่อความยาวสาวความยืด มีประเด็นปัญหาอะไรขึ้นมา ก็ควรตัดให้มันจบไปไม่คิดเล็กคิดน้อย ในทางกลับกัน “รักสั้นให้ต่อ” หมายถึง ถ้าจะรักให้ชีวิตคู่จบกันเร็วๆ จะได้หย่าร้างกันไปแล้วล่ะก็ ให้ต่อความยาวสาวความยืด ก็จะทะเลาะกันแรงขึ้นๆ จนต้องแยกกันอยู่อย่างแน่นอน

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ หากต้องการมีความรักอยู่ด้วยกันนานๆ ก็ให้รู้จักอภัยในสิ่งที่ผิดพลาด ไม่โกรธเคืองกัน แต่หากไม่สามารถตัดความโกรธเคืองและให้อภัยได้ก็อาจจะรักกันได้ไม่นาน

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยรักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตรักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ

  • สำนวนโบราณ รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ คล้องจอง รื่นหู สำหรับคนหัวอ่อน ว่านอนสอนง่าย ได้ยินแล้วเคลิ้ม อยากจะทำตามคำผู้ใหญ่ แต่พอใช้ความคิดจะทำตาม… ก็ไม่ง่าย ธรรมชาติของของที่ต้องบั่น ยิ่งบั่นมันก็ยิ่งสั้นลงๆ ธรรมชาติของของที่จะต่อ ยิ่งต่อมันก็ยิ่งยาวนี่นา…
  • บ้านของฉันเป็นร้านขายส่งผลไม้ ในวันหนึ่งๆมีลูกค้ามากมาย ในช่วงบ่ายของวันนั้นลุงดำซึ่งเป็นลูกค้าประจำมาต่อว่าฉัน ลุงดำหาว่าฉันทอนเงินผิด ฉันมั่นใจว่าทอนถูกแล้ว แต่ก็ต้องยอมจ่ายเงินให้แกไป เพื่อรักษาลูกค้าขาประจำเอาไว้
  • รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ เหมือนลิ้นกับฟันอยู่ในปากด้วยกันยังมีปัญหากระทบกระทั่งกัน ทั้งที่ลิ้นก็ลิ้นของเรา ฟันก็ฟันของเรา บางทีเคี้ยวข้าวฟันยังไปกัดโดนลิ้นเป็นแผลเจ็บจี๊ดขึ้นมา เพราะฉะนั้นชีวิตคู่อยู่ด้วยกันนั้นไม่มีใครสมบูรณ์ โอกาสกระทบกระทั่งกันเกิดขึ้นได้แน่นอน พอเกิดกระทบกระทั่งกันขึ้นมาแล้วก็ต้องรู้จักให้อภัยกัน ขนาดตัวเรายังไม่สมบูรณ์เลย เขาจะผิดพลาดอะไรไปบ้างก็ยอม ๆ กันไป อย่าถือเอาทิฐิมานะเป็นที่ตั้ง
  • การอยู่ในสังคม เพื่อผู้ร่วมงาน เพื่อนฝูง หรือคนใกล้ชิดก็ย่อมจะมีเรื่องราวกระทบกระทั่ง ขัดแย้ง หรือทะเลาะกันบ้าง แต่ทั้ง นี้ก็ต้องรู้จักแยกแยะ เพื่อรักษาความสัมพันธ์ให้ยืนยาว รักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ เรื่องไม่เป็นเรื่องก็อย่าเก็บมาใส่ใจมากนัก ตัดทิ้งไป บั่นมันทิ้งไป การเก็บมาคิด ก็มีโอกาสทำให้เกิดปัญหากัน หากมีคนหนึ่งคนใดพูดถึงปัญหา ข้อเสีย หรือความผิด พลาดของอีกฝ่ายอยู่บ่อยๆ ก็ย่อมจะทำให้เกิดปัญหา เพราะไม่มีใครไม่เคยผิดพลาด ถ้าไม่อยากให้มีปัญหากับคนรอบข้างก็ ต้องระวังปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่คนอื่นเคยทำผิดพลาด ให้อภัยกัน ก็จะคบกันได้ยาวนาน เข้าสำนวนที่ว่ารักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อ
  • นี่คุณผมไม่อยากจะทะเลาะอะไรกับเรื่องเล็กน้อย คุณควรเติบโตและรับฟังผมบ้าง ทุกคนมีปัญหาหมด ถ้ายังรักกันให้คิดเหมือนรักยาวให้บั่น รักสั้นให้ต่อบ้าง ไม่อย่างนั้นชีวิตคู่เราไม่รอดแน่ๆ

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยยื่นแก้วให้วานร ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ย. ยื่นแก้วให้วานร

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยยื่นแก้วให้วานร

ที่มาของสำนวน คำว่าวานรในสำนวนนี้หมายถึงลิง ส่วนแก้วหมายถึงของที่มีค่า ซึ่งหากลิงได้ดวงแก้วไปก็ไร้ประโยชน์ เพราะมันก็ไม่รู้ถึงคุณค่าของดวงแก้วที่ได้ ได้ไปก็ไม่รู้จะเอาไปใช้เพื่อให้ชีวิตพวกมันดีขึ้นอย่างไร

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ โบราณท่านนิยมใช้เปรียบเทียบถึงการให้ของที่ดีหรือของที่มีคุณค่ามาก กับคนที่ไม่รู้คุณค่าของสิ่งเหล่านั้น หรือแม้ว่าจะรู้จักคุณค่าของมันแต่ก็ใช้ไม่เป็น ทำให้ของสิ่งนั้นไม่เกิดประโยชน์อะไรกับผู้รับเลย ให้ไปก็เปล่าประโยชน์

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยยื่นแก้วให้วานร

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตยื่นแก้วให้วานร

  • เห็นว่าเขากำลังลำบากไม่มีงานทำ แล้วยังมีลูกต้องเลี้ยงก็เลยไปสอนวิชาชีพจะได้เลี้ยงตัวเองได้ แต่ก็เหมือนยื่นแก้วให้วานร เพราะสุดท้ายเขาก็รักสบายมากกว่า
  • การที่สุดามอบหนังสือให้เด็กๆ เหล่านั้นก็เหมือนการยื่นแก้วให้วานร เพราะเด็กๆ เหล่านั้นยังอ่านหนังสือไม่ออกและยังตัวเล็กมาก ให้ไปก็นำไปฉีกพับเล่นจนหมด
  • ฉันอุตส่าห์เอาเล็กเชอร์ของฉันให้เจ้าคริสไปอ่านก่อนสอบ แต่ก็เหมือนยื่นแก้วให้วานร เพราะมันไม่อ่านเลย กลับไปหาหนังสืออะไรมาอ่านก็ไม่รู้
  • บอกสิ่งดีๆ ให้กับคนที่เขาไม่รับฟังก็เหมือนยื่นแก้วให้กับวานรนั่นแหละ ทำไปก็ไร้ค่าเปล่าประโยชน์ เสียเวลา แถมเปลืองพลังงานชีวิตตัวเองอีก เอาไปบอกให้กับคนที่สมควรได้รับมันจะดีกว่า
  • ดูลูกชายเราสิคุณ ซื้อไอโฟนรุ่นใหม่มาให้ผม แต่ก็เหมือนยื่นแก้วให้วานรนั่นแหละ เพราะผมใช้ไม่เป็น ใช้เป็นแต่โทรออกและรับสายเท่านั้น

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยยกภูเขาออกจากอก ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ย. ยกภูเขาออกจากอก

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยยกภูเขาออกจากอก

ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยถึงภูเขาเหมือนปัญหาขนาดใหญ่ เมื่อเอาออกจากอก ออกจากตัวเองได้ ทำให้รู้สึกโล่งเป็นอย่างมาก จึงเปรียบว่ายกภูเขาออกจากอกได้นั่นเอง

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ โล่งอก หมดวิตกกังวล ปลดเปลื้องภาระที่หนักอกหนักใจให้หมดไปแล้ว

มักใช้กับปัญหาหรือเรื่องราวทุกข์ใจที่เกิดขึ้นนั้นได้ถูกแก้ไขได้แล้ว หรือเรื่องคอขาดบาดตายแต่รอดมาได้ หรือไม่ได้เกิดขึ้นจริงนั่นเอง ชีวิตไม่มีปัญหาอะไรแล้ว ไม่มีเรื่องหนักอก หนักใจอะไรอีกต่อไปแล้ว

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยยกภูเขาออกจากอก

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตยกภูเขาออกจากอก

  • พลอยเป็นกังวลกับการแสดงครั้งนี้มานานเป็นเวลาหลายเดือน แต่เมื่อการแสดงเสร็จสิ้นลง เธอก็รู้สึกโล่งเหมือนยกภูเขาออกจากอก
  • ปัญหาที่เกิดกับขีวิตของคนเรานั้น มักจะเกิดจากตัวเราเองที่สร้างปัญหาขึ้นมาเอง กิเลสของคนเรา ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น แล้วไม่ได้อย่างที่ต้องการก็ทำให้เป็นทุก หากเรียนรู้ที่จะยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นหรือมีอยู่ ก็จะทำให้ปัญหารบกวน จิตใจลดน้อยลง เหมือน ยกภูเขาออกจากอก โดยเฉพาะการปล่อยวางทุกอย่างให้เป็นไปตามแต่ที่ควรจะเป็น หากได้ทำอย่างดี ที่สุดแล้ว
  • พอลูกสาวเรียนจบ ฉันก็เหมือนยกภูเขาออกจากอกเลย ทีแรกก็กลัวจะส่งเขาเรียนได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง
  • การผ่อนรถยนต์ทั้งๆ ที่ การเงินไม่พร้อม มักจะส่งผลให้มีปัญหาการเงินตามมา ทำให้เกิดความทุกข์ใจอย่างมาก ดังนั้น หากพบว่าตัวเองไม่พร้อมก็ต้องตัดใจขายทิ้ง หรือยุติการผอ่นรถ เพื่อตัดปัญหาซึ่งสามารถทำได้ ด้วยการตัดใจ ตัดความเสียดาย ไม่พร้อมก็อย่าไปใช้รถยนต์ ตัดปัญหานี้ออกไป ก็เหมือน ยกภูเขาออกจากอก เพราะการผ่อนรถยนต์จะมีระยะเวลายาวนาน หลายปี สร้างความทุกข์ใจหลายปี เป็นความทุกข์ทรมานไม่น้อย
  • พ่อพ้นขีดอันตรายแล้ว ผมก็เหมือนยกภูเขาออกจากอกเลย กลุ้มใจเรื่องนี้มาตั้งแต่เมื่อวาน ต้องขอบคุณคุณหมอจริงๆ ครับ

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยยกตนข่มท่าน ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ย. ยกตนข่มท่าน

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยยกตนข่มท่าน

ที่มาของสำนวน การยกตนก็ตามตัวก็คือยกยอตัวเองให้ดูสูง ดูเหนือกว่าผู้อื่นด้วยการพูดทับถม วิจารณ์จุดด้อยของผู้อื่นพยายามที่จะพูดถึงคนอื่นแต่ในแง่ลบ ส่วนคำว่า ข่มท่านนั้นหมายถึงการยกตนขึ้นข่มให้อยู่เหนือบุคคลอื่น ที่อยู่ในระดับเดียวกันเพื่อให้ตัวเองดูดีที่สุด เก่งและดีที่สุดทำให้เป็นที่ยอมรับด้วยการใช้จุดด้อยของคนอื่น แต่มักพูดถึงตัวเองแต่จุดดีของตนเอง ทับทมจุดดีขึ้นอื่น

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ การแสดงออกในเชิงโอ้อวด ยกย่องตัวเองและข่มผู้อื่น พูดจาทับถม ดูหมิ่นผู้อื่นให้เห็นว่าตนเองเหนือกว่า อยู่สูงกว่าผู้อื่น

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยยกตนข่มท่าน

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตยกตนข่มท่าน

  • นักจิตวิทยาเผย เบื้องลึกของคนที่ชอบยกตนข่มท่าน เป็นคนหลงตัวเองอย่างแท้จริง แต่ลึกๆ กลับรู้สึกไร้ค่าและเกลียดตนเอง
  • เด็กคนนี้เป็นคนเก่ง แต่ไม่ค่อยมีใครชอบ เข้ากับใครไม่ค่อยได้เพราะ ชอบทำตัวยกตนข่มท่านเพราะไปคุยโต โอ้อวด ว่าเก่งกว่าคนอื่น ผู้ใหญ่หลายๆคนก็เลยไม่ชอบ กลายเป็นสร้างความไม่พอใจให้กับคนรอบข้าง
  • รับมือกับพวกยกตนข่มท่าน เวลาโดนข่มให้ท่องไว้ในใจเลยว่าอย่าคล้อยตามเขา คิดให้มันกลายเป็นเรื่องตลกซะ ปล่อยเขาพูดที่อยากพูดไปแล้วทำหน้าโง่ ๆ มองเขา ซึ่งถ้าเราดันรู้อะไรเยอะกว่า ก็ถือว่าเขาโชคร้าย
  • ผลจิจัยชี้ว่าผู้ที่มีพฤติกรรมโอ้อวด ชอบเบ่ง หรือยกตนข่มท่านในระดับสูง มักเป็นผู้ที่ระบุในแบบสอบถามว่า ตนเองรู้สึกขาดความมั่นคงปลอดภัยอย่างรุนแรง และมีความรู้สึกผิดอยู่ในใจเสมอ
  • สมชายมีนิสัยชอบยกตนข่มท่านจนใครต่อใครก็ไม่อยากคบด้วย สุดท้ายแพ้ภัยตัวเอง ต้องอยู่คนเดียว ทำงานก็ต้องทำคนเดียว เพราะทุกคนไม่ช่วยเหลือ จนต้องลาออกในที่สุด

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยไม้หลักปักเลน ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ม. ไม้หลักปักเลน

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยไม้หลักปักเลน

ที่มาของสำนวน คำว่า เลน หมายถึง ดินที่เหลวอยู่ในที่ชื้นแฉะหรือมีน้ำขัง เช่น ท้องร่องสวน บ่อ บึง สระ คู คลอง แม่น้ำ ในท้องร่องสวนถ้ามีเลนสะสมอยู่มาก จะทำให้ท้องร่องสวนตื้นเขิน ชาวสวนมักใช้พลั่วโกยหรือตักสาดขึ้นไปบนหลังร่องสวน ส่วน ไม้หลัก คือไม้ที่มีขนาดใหญ่พอสมควร เป็นไม้ที่ใช้ปักลงดินเพื่อเป็นหลักค้ำยัน ใช้ผูกไม้เลื้อย ผูกสัตว์เลี้ยงเช่นวัว ควาย หรือผูกเรือในแม่น้ำ คู คลอง เป็นต้น ถ้าไม้หลักปักลงดินที่เหลวเป็นเลนก็จะไม่แน่น ไม่มั่นคง มักโอนเอนไปมา ถ้าผูกต้นไม้ ต้นไม้ก็จะล้ม ถ้าผูกสัตว์เลี้ยง สัตว์เลี้ยงจะหลุดเดินไปที่อื่น หรือถ้าผูกเรือ เรือจะลอยไปตามน้ำ เกิดความเสียหายได้ โดยมีสำนวนที่คล้ายกันคือไม้หลักปักขี้ควาย

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ ใช้เปรียบกับผู้ใหญ่ที่ยึดถือเป็นหลักเป็นที่พึ่งไม่ได้ เพราะเป็นคนโลเล ไม่มั่นคง ไม่แน่นอน

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยไม้หลักปักเลน

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตไม้หลักปักเลน

  • ต่อไปสถานการณ์ของบริษัทจะแย่ ถ้าผู้บริหารยังทำตัวเป็นไม้หลักปักเลนอยู่แบบนี้ คนนั้นพูดทีก็เอนไปทางนั้น คนนี้พูดทีก็เอนมาทางนี้ ดูไม่มีความมั่นคงเอาซะเลย
  • เป็นผู้นำก่อนจะพูดอะไรออกไป ต้องคิดพิจารณาให้รอบคอบ แล้วจึงตัดสินใจพูดออกไป เราต้องยึดมั่นว่าคำพูดเป็นนาย ไม่ทำตัวเป็นไม้หลักปักเลน โอนไปเอนมา ประชาชนจะไม่ศรัทธาเชื่อถือ
  • คนจิตใจโลเล คนประเภทนี้ก็เหมือนไม้หลักปักเลน เป็นคนเหลาะแหละ ไม่มั่นคง โอนเอนไปมาเสมอ
  • นี่คุณเวลาจะตัดสินใจดีลใหญ่ๆ อย่าทำตัวแบบไม้หลักปักเลน เพราะมันส่งผลต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าของเรา
  • แม่ทัพปทุมวันขยายความให้เห็นภาพว่า เห็นคนโวยวายก็หลบซ้ายที ขวาที แบบนี้จะไม่ได้รับความเชื่อถือศรัทธาอะไร สรุปวา ต้องยึดหลักให้มั่นในการทำงาน ยึดหลักกฎหมาย ยึดหลักความเป็นธรรม ความถูกต้อง ความเชื่อมั่นจะตามมา “ถ้าท่านเป็นไม้หลักปักขี้เลนตามกระแส มาข้างไหนก็ตามข้างนั้น ไม่มีทางที่ท่านจะได้รับความเชื่อมั่นศรัทธา” มันคือ ปัญหาความท้าทายที่รอทุกคนอยู่

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยไม้ใกล้ฝั่ง ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ม. ไม้ใกล้ฝั่ง

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยไม้ใกล้ฝั่ง

ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยถึงต้นไม้ใหญ่ริมตลิ่งถูกน้ำเซาะจนรากลอยและโค่นลงน้ำในที่สุด ต้นไม้ใหญ่เปรียบเหมือนคนแก่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานาน น้ำที่เซาะตลิ่งก็เหมือนกับกาลเวลาที่ค่อยๆ กัดกินอายุขัยของคนเรา นับวันรอแต่จะทรุดลงในลำน้ำในไม่ช้า และจมลงไปจนไม่สามารถเจริญเติบโตได้ต่อไป สุดท้ายก็ตายลงไป

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ คนแก่ที่ชรามากแล้ว ใกล้จะตาย อยู่ได้อีกไม่นาน ผ่านอะไรมามาก และไม่สามารถทำอะไรได้มากแล้ว ใกล้ถึงจุดจบของตน เปรียบได้ดังไม้ใกล้ฝั่งนั่นเอง

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยไม้ใกล้ฝั่ง

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตไม้ใกล้ฝั่ง

  • “พวกเขาทำทุกอย่างเท่าที่คนคนหนึ่งพึงทำได้/เพื่อจะให้ถูกใจผู้เป็นไม้ใกล้ฝั่ง พวกเขาทำวันนี้ให้งดงามเพื่อฉัน/เพราะเหตุนี้ฉันจึงเต็มตื้นในความรู้สึก/ เสมือนหนึ่งอินทรีผงาดฟ้า”
  • ตอนนี้ลุงก็เหมือนไม่ใกล้ฝั่งคงอยู่อยู่ได้อีกไม่นาน ตาจึงอยากจะถ่ายทอดวิชาความรู้ศิลปะพื้นบ้าน ให้แก่รุ่นลูกรุ่นหลานสืบไป
  • “โรงเรียนผู้สูงอายุ” เปลี่ยนไม้ใกล้ฝั่งให้เป็นพลัง ได้กลายเป็นอีกแนวทางในการรับมือกับสถานการณ์ผู้สูงอายุ ปัจจุบันมีการการจัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุกว่า 1,000 แห่ง ทั่วประเทศโดยมีเป้าหมายคือ การเปิดพื้นที่ทางสังคมและสร้างความสุขให้แก่ผู้สูงอายุ
  • เวลานี้คุณพ่อก็เหมือนไม้ใกล้ฝั่ง เธออย่ามัวแต่สร้างปัญหาก่อเรื่องให้ท่านทุกข์ใจอยู่เลย ตอนนี้ท่านควรจะมีความสุขในชีวิตบั้นปลายได้แล้ว
  • ชีวิตคนมันต้องมีสักวันหนึ่งที่ถึงเวลาแก่ชรา เหมือนไม้ใกล้ฝั่ง การใช้ชีวิตให้ทุกวันเหมือนวันสุดท้ายเป็นข้อคิดที่ดีเหมือนกัน

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้ ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ม. ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้

ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยถึงเวลาเดินป่า เมื่อเจอบ่อน้ำแล้วค่อยตัดกระบอก ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัดกระบอกไว้ก่อน เพราะหากไม่เจอบ่อน้ำแล้วจะเสียแรงเปล่า หรือหากยังไม่เจอกระรอก ก็อย่าเพิ่งโก่งหน้าไม้รอ เพราะจะเสียแรงไปเปล่าๆ

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ การที่เตรียมพร้อมเตรียมตัวล่วงหน้ามากจนเกินไป ทั้งๆ ที่เหตุการณ์นั้นยังมีโอกาสเกิดน้อย หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ ทำให้ต้องเสียเวลาเสียแรงเปล่าโดยไม่จำเป็น

นิยมใช้กับคนที่ชอบทำอะไรก่อนเวลาอันสมควร ทำอะไรรีบร้อนเกินไป ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วรอให้ถึงเวลาที่เหมาะสมเสียก่อนค่อยทำจะดีกว่า โดยโบราณท่านเปรียบเอาไว้เช่นเดียวกับการตัดกระบอกไม้ไผ่เตรียมใส่น้ำทั้งๆ ที่ยังไม่เจอน้ำเลย ทำให้เป็นภาระต้องแบกหิ้วกระบอกนั้นไปด้วยโดยไม่จำเป็น

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้

  • ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้ชัดๆ คุณรีบลาออกจากบริษัทเก่า ทั้งๆที่ยังไม่รู้ว่าบริษัทใหม่จะรับคุณเข้าทำงาน หรือไม่แบบนี้ระวังครอบครัวจะเดือดร้อน
  • ไม่ต้องรนรานเหมือนไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้หรอก ใจเย็นๆ ตั้งสติ จะทำอะไรเริ่มจากง่ายๆ ก่อน
  • มีคำทำนายจากหมอดูออกมาว่าโลกจะแตก เขาก็กลัวว่าจะไม่มีโอกาสได้ใช้ทรัพย์สมบัติที่หามา เจึงใช้เงินที่มีอยู่ทั้งหมดก่อนโลกจะแตก ทำแบบนี้มันเข้าทำนองไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้ ถ้าหากโลกไม่แตกขึ้นมาเขาจะอยู่อย่างไร
  • การเตรียมตัวเหมือนไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้มันก็ดีไปอีกแบบนะ แต่คุณต้องแลกไปกับการเสียเวลากับพลังงานด้วย ถ้าคิดว่าว่างและไหวก็เอาเลยเต็มที่
  • นักลงทุนมือใหม่มักทำตัวแบบไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโรกโก่งหน้าไม้ พอได้ยินข่าวร้ายอะไรหน่อยก็รีบเทขายหุ้น ทั้งๆ ที่ข่าวนั้นอาจจะไม่จริงก็ได้ เป็นแบบนี้บ่อยๆ เจ๊งกันพอดี

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube