สุภาษิตคำพังเพยละเลงขนมเบื้องด้วยปาก ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตคำพังเพยละเลงขนมเบื้องด้วยปาก
X
Advertisements

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ล. ละเลงขนมเบื้องด้วยปาก

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยละเลงขนมเบื้องด้วยปาก

ที่มาของสำนวนนี้คือ เปรียบเปรยถึงการทำขนมเบื้องไทย ซึ่งดูเผินๆ เหมือนกับว่าทำไม่ยากแต่ที่จริงแล้ว ต้องใช้ความชำนาญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะขั้นตอนการละเลงแป้งบนกะทะให้เป็นแผ่น หากไม่ชำนาญจริงแผ่นแป้งจะเรียบบางไม่เท่ากัน และคำว่า “ปาก” ในสำนวนนี้หมายถึงการพูดให้ดูเหมือนทำง่ายๆ แต่การทำจริงนั้น ต้องลงมือทำตามประสบการณ์ความชำนาญ ไม่ใช่ทำด้วยการพูด (ปาก)

และยังมีปรากฏสำนวนละเลงขนมเบื้องด้วยปาก ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน นางสร้อยฟ้านางศรีมาลาทำขนมเบื้อง ดังนี้

ศรีมาลาว่าชะช่างร้อนจิต
พระอาทิตย์ยังไม่ลับดับแสงเหลือง
เด็กเด็กมันยังตื่นครื้นทั้งเมือง
ขนมเบื้องทำด้วยปากยากอะไร

นางศรีมาลาพูดเป็นนัยกับจมื่นไวยว่าอย่าดีแต่พูด เหมือนกับการละเลงขนมเบื้องด้วยปาก
นางสร้อยฟ้าได้ยินนางศรีมาลาพูดดังนั้น ก็โกรธคิดว่านางศรีมาลาพูดทับถมตนเรื่องการทำขนมเบื้อง จึงนำมาซึ่งเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันเนืองๆ

ต้นเรื่องมีอยู่ว่าจมื่นไวยสั่งให้นางสร้อยฟ้าและนางศรีมาลาทำขนมเบื้องไทย

สร้อยฟ้าศรีมาลาว่าเจ้าคะ
ตั้งกระทะก่อไฟอยู่อึงมี่
ต่อยไข่ใส่น้ำตาลที่หวานดี
แป้งมีเอามาปรุงกุ้งสับไป

ทั้งสองนางจึงขมีขมันทำขนมเบื้องไทยอย่างสุดฝีมือ คงจะทำทั้งไส้หวานและไส้กุ้ง โดยพื้นเพของนางศรีมาลาเป็นคนภาคกลาง จึงมีทักษะการทำขนมเบื้องได้ดี ส่วนนางสร้อยฟ้าเป็นราชธิดาเจ้าเมืองเชียงใหม่ ไม่เคยทำขนมเบื้องมาก่อน แม้จะพยามจนสุดฝีมือแล้วขนมเบื้องที่นางทำออกมาก็ยังได้แค่นี้

ศรีมาลาละเลงแผ่นบางบาง
แซะใส่จานวางออกไปให้
สร้อยฟ้าไม่สันทัดอึดอัดใจ
ปามแป้งใส่ไล้หน้าหนาสิ้นดี
พลายชุมพลจึงว่าพี่สร้อยฟ้า
ทำขนมเบื้องหนาเหมือนแป้งจี่
พระไวยตอบว่าหนาหนาดี
ทองประศรีว่ากูไม่เคยพบ
ลาวทำขนมเบื้องผิดเมืองไทย
แผ่นผ้อยมันกระไรดังต้มกบ
แซะม้วนเข้ามาเท่าขาทบ
พลายชุมพลดิ้นหรบหัวร่อไป

นางสร้อยฟ้าถูกเย้ยหยันเรื่องการทำขนมเบื้อง จึงเกิดเป็นปมอยู่ในใจ เมื่อได้ยินแว่วๆ ว่า “ละเลงขนมเบื้องด้วยปาก” จึงแค้นเคือง ประกอบกับนางไม่เข้าใจความหมายของสำนวนไทย “ละเลงขนมเบื้องด้วยปาก” ว่ามีความหมายอย่างไร ทำให้ความสงบสุขในครอบครัวของจมื่นไวยต้องพินาศลงด้วยขนมเบื้องเป็นเหตุ

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ ดีแต่พูด แต่ทำไม่ได้ หรือผู้ที่พูดว่าทำสิ่งนั้นๆ ได้โดยง่าย ดูง่ายไปเสียหมด แต่พอเวลาทำจริงกลับทำไม่ได้อย่างที่พูดไว้ได้

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยละเลงขนมเบื้องด้วยปาก

Advertisements


ตัวอย่างการใช้สุภาษิตละเลงขนมเบื้องด้วยปาก

  • ผู้ชายคนนั้นดีแต่พูดไปเรื่อย อะไรๆก็ง่ายไปหมด แต่พอเอาเข้าจริง กลับทำอะไรไม่เป็นเลยสักอย่าง ตรงกับสำนวนไทยที่ว่าละเลงขนมเบื้องด้วยปาก
  • คนพวกนี้ “ละเลงขนมเบื้องด้วยปาก” เอาเรื่องความเป็นความตายของประเทศชาติ เรื่องไม่ดี ยุยงส่งเสริมให้คนในชาติ มาสร้างความปั่นป่วนวุ่นวาย ซ้ำเติมการแก้ปัญหาในสถานการณ์วิกฤติระดับโลก
  • นักเรียนจะต้องฝึกหัดทำ และ ลงมือปฏิบัติทำอย่างจริงๆ จังๆ จนเกิดความแคล่วคล่องว่องไว และชำนิชำนาญ อย่าให้คนอื่นพูดได้ว่าลูกศิษย์ของครูละเลงขนมเบื้องด้วยปาก
  • สมชายเขาเป็นช่างสร้างบ้านที่ไม่มีใครกล้าจ้าง เพราะดีแต่พูด เป็นพวกละเลงขนมเบื้องด้วยปาก พูดดี หลักการดี แต่ไม่สามารถทำตามที่พูดได้ อย่างเรื่องการสร้างบ้าน ไม่มีหลังไหนเลยที่สร้างออกมาได้ตามแบบที่ตกลงกันไว้ในสัญญา
  • อยู่ให้ห่างกับพวกละเลงขนมเบื้องด้วยปาก นอกจากจะเป็นพิษแล้ว ยังดูดพลังดีๆ ในร่างกายและจิตใจของเราไปด้วย ทำให้เปลืองเวลาชีวิตเราเป็นอย่างมาก

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

Advertisements