สุภาษิตคำพังเพยเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ อ. เอาหูไปนา เอาตาไปไร่

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยเอาหูไปนา เอาตาไปไร่

ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยถึงการที่บุคคลเอาหูไปนาที่หนึ่ง และเอาตาไปที่ไร่ที่หนึ่ง ทำให้ร่างกายของบุคคลนั้นไม่สามารถรับรู้เรื่องราวอะไรได้ เพราะไม่มีหูไม่มีตาแล้ว ดังนั้นจึงใช้เปรียบเทียบกับคนที่ทำเป็นไม่สนใจในเรื่องที่เกิดขึ้น

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ แสร้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ไม่รับรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่สนใจ เพื่อให้เรื่องหรือเหตุการณ์นั้นๆ ผ่านลุล่วงไป

สำนวนนี้มักจะใช้เปรียบเทียบถึงบุคคลที่มีหน้าที่ต้องรับรู้ ต้องตัดสินใจในสิ่งที่เกิดขึ้นหรือเป็นอยู่ แต่เขาก็แกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเสีย

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยเอาหูไปนา เอาตาไปไร่

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตเอาหูไปนา เอาตาไปไร่

  • ในบางครั้งคนเราก็ต้องรู้จักเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เสียบ้าง มันอาจจะทำให้เราสบายใจขึ้น
  • นายสมบัติ รู้ว่านายเอและนายบีไม่ค่อยจะลงรอยกันนัก แต่นายบีเป็นญาติของเขา ดังนั้นเมื่อนายบีแกล้งหรือทำร้ายนายเอ เขาก็แกล้งเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เสีย ไม่รีบเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
  • ก็เพราะหน่วยงานรัฐส่วนใหญ่ เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ แบบนี้ถึงมีคนโกงกินอยู่ทุกวัน ถ้าเอาจริงเมื่อไหร่ประเทศเจริญขึ้นเยอะ แต่ก็ยากเพราะผลประโยชน์มันเยอะ
  • นายสมชายเป็นพ่อหม้ายลูกติด ซึ่งได้มาแต่งงานใหม่กับนางพรพรรณ เขารู้ว่าพรพรรณไม่ค่อยชอบลูกสาวของเขานัก ดังนั้นเมื่อลูกสาวทำอะไรผิดเล็กๆ น้อยๆ เขาก็แสร้งเอาหูไปนา เอาตาไปไร่เสีย เพื่อมิให้ภรรยาใหม่เกรี้ยวกราดหรือโมโหลูกสาวของตน
  • คนบางคนเราต้องทำเหมือนเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ เพราะไม่ว่าจะอยากให้เขาดีขึ้นขนาดไหน แต่ตัวเขาไม่พยามเพื่อตัวเอง ก็ไร้ประโยชน์ ไม่พูด เฉยๆ ไปเสียดีกว่า เปลืองพลังงานเรา

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ อ. เอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง

ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยถึงการนำไม้ซีกที่มีขนาดเล็ก ไปงัดไม้ซุงที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก โดยปกติจะไม่สามารถงัดขึ้นมาได้ นอกจากนั้นก็ส่งผลให้ไม้ซีกแตกหรือหักด้วย

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ ขัดขวาง คัดค้านผู้มีอำนาจ ฐานะสูงกว่า หรือผู้ใหญ่กว่า มักจะล้มเหลว ทำให้เดือดร้อน เสียหาย หรือได้รับอันตราย

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง

  • ในโลกทางการเงินการลงทุนเกินตัวก็เหมือนเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมหาศาล มากกว่าการที่เราจะทำกำไรได้ จงระวังไว้ให้ดี!
  • สมชายเป็นพนักงานทั่วไปในบริษัทแห่งหนึ่ง เขาไม่ปฏิบัติตามนโยบายของผู้บริหาร แล้วยังต่อต้านนโยบายดังกล่าวด้วยการชักชวนให้พนักงานคนอื่นๆให้เห็นด้วยกับตน เมื่อเรื่องทราบถึงผู้บริหาร สมชายจึงถูกไล่ออก
  • อยู่ในวงการที่รุ่นพี่รุ่นน้องสำคัญก็อย่าทำตัวแบบเอาไม้ซักไปงัดไม่ซุง มันจะทำให้เราอยู่ยาก
  • เอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง! SME รายย่อยประกาศกร้าว จะไม่ยอมให้นายทุนใหญ่ มาทำกิจการบริเวรนี้ รวมตัวประชาชนประท้วง วอนรัฐอย่าเอาใจนายทุนมากเกินไป!
  • ชีวิตคือความเสี่ยงบางทีการที่เราเอาไม้ซักไปงัดไม้ซุงเมื่อไม่มีทางเลือก หรือหมดหนทางจะไปต่อจริงๆ แม้มีโอกาสล้มเหลวสูง แต่ก็ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้แล้ว!

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยเอามือซุกหีบ ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ อ. เอามือซุกหีบ

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยเอามือซุกหีบ

ที่มาของสำนวน หีบในสำนวนนี้หมายถึงหีบอ้อย ที่ใช้สำหรับคั้นน้ำอ้อย เปรียบเปรยถึงคนที่ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับการหีบอ้อย จะต้องระวังที่จะไม่เข้าไปยุ่งโดยเอามือเข้าไปใกล้ๆ เครื่องหีบ เพราะอาจจะถูกหีบมือแตกได้

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ หาเรื่องเดือดร้อนหรือความลำบากใส่ตัวโดยที่ตนไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งจะทำให้ได้รับอันตราย

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยเอามือซุกหีบ

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตเอามือซุกหีบ

  • เขากำลังประท้วงกันอยู่ตรงหน้าที่ทำงาน เธอก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเขาด้วย จะไปร่วมกับเขาทำไม เอามือซุกหีบแท้ๆ เลยเธอนี่
  • เวลาที่เห็นคนมีปัญหากัน ทะเลาะกัน ก็อย่าเข้าไปดูอยู่ใกล้ๆ บางคนเห็นคนทะเลาะกัน ก็พยายามไปมุง ไปสังเกตการณ์ใกล้ๆ เพื่อจะดูว่าเขาจะทำอะไร อยากจะอยู่ในเหตุการณ์แบบเหมือนจริง หลายครั้งที่อาจโดนลูกหลงไปด้วย อยู่ๆ ก็หาเรื่องใส่ตัว เอามือซุกหีบ ถ้าอยู่ห่างๆ ก็ปลอดภัยแล้ว
  • เขากำลังยกพวกตีกัน เธอจะไปช่วยพวกเขาทำไม ซวยไปด้วยเลย เอามือซุกหีบแท้ๆ
  • ถ้าไม่มีความรู้ในการลงทุนก็อย่าเพิ่งเอามือซุกหีบ เพราะตลาดสามารถเอาเงินคุณไปได้ทุกเมื่อ
  • ไม่อยากให้ชีวิตเดือดร้อน อย่ารนไปช่วยเหลือคนอื่น ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ยังไม่ได้ดี ไม่ได้สบาย ยังลำบากอยู่ แบบนี้มันจะเหมือนกับเอามือซุกหีบ

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยเอาเนื้อหนูไปปะเนื้อช้าง ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ อ. เอาเนื้อหนูไปปะเนื้อช้าง

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยเอาเนื้อหนูไปปะเนื้อช้าง

ที่มาของสำนวนนี้คือ การนำเอาเนื้อของหนูซึ่งเป็นสัตว์ตัวเล็กๆ ไปพอกปิดเนื้อของช้างซึ่งเป็นสัตว์ที่ตัวใหญ่มากๆ ซึ่งมันเป็นการไม่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะต้องใช้เนื้อของหนูหลายๆตัว จึงจะพอดีกับความต้องการได้ เป็นวิธีที่ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง เพราะมันเป็นฝืนกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ เอาทรัพย์ หรือสิ่งของจากคนที่มีน้อยไปให้แก่ผู้ที่มีมากกว่า กล่าวคือ การที่เราเอาทรัพย์สินเงินทอง หรือสิ่งของบางอย่างจากคนที่มีเล็กๆ น้อยๆ ไปให้แก่ผู้ที่มีมากกว่า ซึ่งเป็นการที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง มันเป็นการฝืนธรรมชาติ

นิยมใช้กับคนที่ชอบไปรีดไถ หรือไปบังคับเอาทรัพย์สินเงินทองเอาจากคนที่มีน้อยกว่า ทั้งที่ตนเองก็มีทรัพย์สินเงินทองอยู่มากมาย

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยเอาเนื้อหนูไปปะเนื้อช้าง

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตเอาเนื้อหนูไปปะเนื้อช้าง

  • นายเชนเป็นเศรษฐีเงินกู้ ต้องการเปิดร้านอาหารใหม่ แทนที่จะเอาเงินที่ตนมีไปเปิดกิจการ กลับไปบังคับเอากับลูกหนี้โดยการขึ้นดอกเบี้ยกู้ยืมขึ้นไปอีก เข้าสำนวนเอาเนื้อหนูไปปะเนื้อช้าง
  • วัดของเจ้าคณะจังหวัดมีคนทำบุญมากมายอยู่แล้ว แต่ถึงคราวทอดกฐินยังนำซองกฐินมาให้วัดต่างๆ ช่วยแจกให้อีก อย่างนี้เท่ากับว่าเอาเนื้อหนูไปปะเนื้อช้าง
  • สำหรับ 6 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการหายไปของท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ชลบุรี กระบี่ สุราษฎร์ธานี และพังงา ดร.ศุภวุฒิยกตัวอย่างว่า ใน จ.ภูเก็ตเคยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงปีละ 10.6 ล้านคน สร้างรายได้ 4.19 แสนล้านบาท และมีนักท่องเที่ยวไทย 3.9 ล้านคน/ครั้ง สร้างรายได้ 5.23 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 12% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ความพยายามจะเอา 12 บาท ไปโปะ 100 บาท จึงเป็นยากและเป็นไปไม่ได้ในความเห็นของ ดร.ศุภวุฒิ มาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” จึงไม่ต่างจากการ “เอาเนื้อหนูไปปะเนื้อช้าง”
  • รัฐบาลบางประเทศนี่จริงๆ เลย นิสัยเอาเนื้อหนูไปปะเนื้อช้าง ขูดรีดจากคนจน เอาใจนายทุน ให้นายทุนมาเอาเปรียบคนจนอีกที ไม่ให้ประชาชนคนธรรมดาลืมตาอ้าปากเลยทีเดียว
  • คนนิสัยประจบสอพลอ ชอบเอาเนื้อหนูไปปะเนื้อช้าง เอาใจเจ้านาย หวังเลื่อนขั้นก้าวหน้า โดยข้ามหัวเพื่อนร่วมงาน  ที่ทำร่วมกันมา ลำบากด้วยกันมา แย่จริงๆ คนแบบนี้

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยเอามะพร้าวห้าวไปขายสวน ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ อ. เอามะพร้าวห้าวไปขายสวน

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยเอามะพร้าวห้าวไปขายสวน

ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยถึงการนำมะพร้าวห้าว (คือมะพร้าวที่แก่จัด) ไปหลอกขายคนสวนมะพร้าว ซึ่งชาวสวนนั้นมีความรู้ด้านมะพร้าวเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ซึ่งก็ลงเอยด้วยการขายไม่ได้นั่นเอง

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ แสดงความรู้หรืออวดรู้กับผู้ที่รู้เรื่องดีกว่า อวดฉลาดกับคนที่มีความรู้ หรือความชำนาญในสิ่งนั้นมากกว่าตน

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยเอามะพร้าวห้าวไปขายสวน

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตเอามะพร้าวห้าวไปขายสวน

  • เธอกำลังเอามะพร้าวห้ามไปขายสวนนะ มาบอกฉันเรื่องเทคนิคการทำอาหาร เธอลืมไปแล้วหรือว่าฉันเป็นแม่ ครัวโรงแรม 5 ดาว ซึ่งต้องรู้เรื่องพวกนี้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว
  • ฉันกับสุดาซึ่งเป็นนักเรียนมัธยม ได้ไปซื้อขนมเค้กที่ร้านขนมเค้กชื่อดังแห่งหนึ่ง ซึ่งร้านนี้เปิดมานานหลายปี เจ้าของร้านเป็นอาจารย์พิเศษที่สอนการทำขนมเค้กให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย แต่สุดายังไปบอกให้เขาใส่อันนั้นอันนี้เพิ่มจะได้มีรสใหม่ๆ ทั้งๆที่เขาเป็นผู้เชียวชาญด้านนี้อยู่แล้ว
  • ผมขับรถมายี่สิบกว่าปี คุณเพิ่งขับรถเป็นปีเดียว แล้วมาสอนผมเนี่ยนะ คุณนี่เหมือนเอามะพร้าวห้าวไปขายสวนเลย เฮ้อ!
  • เอามะพร้าวห้าวไปขายสวนชัดๆ ไปแนะนำเรื่องรถให้กับนายเอ ไม่รู้หรือว่าเขาเป็นเซลล์ขายรถมา 5 ปีแล้วเชี่ยวชาญเรื่องรถมากกว่าคุณอีก
  • อยากพัฒนาตัวเองก็อย่าเอามะพร้าวห้าวไปขายสวน อยากต้องเรียนรู้จากคนที่มีความชำนาญในเรื่องนั้นๆ ต้องพุดให้น้อยๆ และรับฟังอย่างตั้งใจ

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยหาเหาใส่หัว ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ห. หาเหาใส่หัว

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยหาเหาใส่หัว

ที่มาของสำนวน เปรียบในยุคสมัยก่อนเด็กผู้หญิงมักจะเป็นเหา หากเด็กหญิงคนไหนไม่มีเหา เมื่อเห็นเพื่อนเป็นเหา จึงอยากจะเป็นเหมือนเพื่อนบ้าง จึงหาตัวเหามาใส่ผมของตน ซึ่งเหานั้นทำให้เกิดอาการคัน สร้างความรำคาญ จึงนำมาใช้เป็นสำนวนที่มีความหมายถึงการนำความเดือดร้อนมาสู่ตน เช่นเดียวกับการหาเหาใส่หัว

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ นำพาปัญหาเรื่องเดือดร้อนมาสู่ตนเอง ทั้งๆ ที่เรื่องนั้นไม่ใช่เรื่องของตน แต่เข้าไปยุ่งจึงต้องเดือดร้อน

กล่าวคือบุคคลที่หาเรื่องเดือดร้อนให้ตนเอง หรือไปวุ่นวายกับเรื่องของชาวบ้านจนตัวเองเดือดร้อน สำนวนนี้มักใช้เปรียบเทียบถึงคนที่ไม่ชอบอยู่นิ่ง ชอบวุ่นวายกับเรื่องของคนอื่น ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ จนสร้างความเดือดร้อนกลับมาหาตนเองในที่สุด

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยหาเหาใส่หัว

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตหาเหาใส่หัว

  • นายสมชาย เห็นแม่ค้าถกเถียงกันอยู่อย่างหน้าดำคร่ำเครียด จึงเข้าไปนั่งฟังและร่วมเข้าโต้เถียงด้วย จนเกิดการทำร้ายร่างกายกันขึ้น สุดท้ายต้องเจ็บทั้งตัวและต้องขึ้นโรงขึ้นศาลอีกด้วย
  • คุณนายสายสมรเห็นเด็กขายพวงมาลัยคนหนึ่งก็นึกสงสาร จึงจ้างให้เด็กคนนี้มาทำสวนที่บ้านแล้วให้ค่าตอบแทน อยู่มาวันหนึ่งคุณนายกลับมาจากงานเลี้ยง ปรากฎว่าข้าวของที่บ้านหายไปหลายชิ้น ดูจากกล้องวงจรปิด ก็ได้รู้ว่าเป็นฝีมือของเด็กคนนั้น
  • มีชีวิตสงบๆ ทำงานเก็บเงินเงียบๆ อย่าหาเหาใส่หัวด้วยความโลภ ไปทำอะไรเสี่ยงๆ ในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ อาจทำให้ชีวิตล่มจ่มได้เลยนะ
  • การหาเหาใส่หัวหรือหาเรื่องใส่ตัวระดับบิ๊กๆ มีผลกระทบต่อตน และสังคมประเทศชาติอย่างมหาศาล ก็มีอยู่มากมายอย่างเช่น… รัฐบาลชุดนี้กำลังจะล้างมาเฟียให้สิ้นซาก
  • คุณอย่าไปยุ่งกับเรื่องครอบครัวคนอื่นเลย เดี๋ยวจะเดือดร้อนครอบครัวเราเองเปล่าๆ ปัญหาของเราก็มีมากพอแล้ว อย่าหาเหาใส่หัว ขอร้อง!

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยหูผีจมูกมด ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ห. หูผีจมูกมด

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยหูผีจมูกมด

ที่มาของสำนวน เปรียบเทียบว่าเหมือนกับมด ซึ่งมีจมูกดมกลิ่นได้ฉับไวเมื่อมีสิ่งที่จะเป็นอาหารของมดอยู่ ณ ที่ใด ในเวลาไม่นานก็จะมีฝูงมดมาช่วยกันลากสิ่งนั้นกลับไปที่รังของมันโดยเร็ว ทั้งนี้ มดที่ทำหน้าที่ตระเวนหาอาหารจะเดินไปมาตามที่ต่าง ๆ ตลอดเวลา เมื่อพบเหยื่อหรือสิ่งที่เป็นอาหาร ก็จะรีบนำข่าวไปบอกให้มดตัวอื่นๆ รู้โดยทันที สำนวน จมูกมด นี้ มักใช้เข้าคู่กับคำ หูผี เป็น หูผีจมูกมด หมายถึง รู้เรื่องได้รวดเร็ว

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ รู้เรื่องอะไรได้เร็วทันท่วงที ไหวตัวทันเหตุการณ์ตลอด กล่าวคือผู้ที่รู้เรื่อง หรือเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วฉับพลันทันที

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยหูผีจมูกมด

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตหูผีจมูกมด

  • เขาเป็นคนหูผีจมูกมด จะรู้เรื่องราวต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วฉับไวทันท่วงที
  • นี่เธอ หูผีจมูกมด หรือไง เรื่องนี้ยังไม่มีใครรู้เลยนะนอกจากเธอ
  • คนที่จะเป็นนักข่าวได้อย่างน้อยก็ต้องมี หูผีจมูกมด ติดตัวกันบ้าง
  • ลงทุนในหุ้นต้องเป็นคนหูผีจมูกมด รู้ท่วงทันราคา ข่าวเศรษฐกิจบ้านเมืองทั้งไทย และต่างประเทศด้วย
  • เมียผมเป็นคนหูผีจมูกมดจริงๆ เลย แอบคุยกับใคร แป๊ปๆ เธอจับได้ตลอดเลย แบบนี้ยอมเลย

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยเหยียบเรือสองแคม ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ห. เหยียบเรือสองแคม

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยเหยียบเรือสองแคม

ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยคนที่มีนิสัยโลภ โดยมีคนได้รับมอบเรือ โดยผู้ให้เรือแก่บุคคลนั้นให้เลือกเรือลำใดลำหนึ่ง แต่เขาละโมบโลภมากอยากพายเรือกลับทั้งสองลำ โดยการเหยียบเรือสองแคมแล้วพายไป โบราณจึงนำมาใช้เป็นสำนวนเปรียบเปรยถึงคนอยู่ได้ทั้งสองฝ่ายเพราะมุ่งหมายผลประโยชน์จากสองฝ่าย

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ ทําทีเข้าด้วยทั้งสองฝ่าย อยู่กับฝ่ายไหน ก็เห็นด้วยหรือแสดงท่าทีเข้าข้างฝ่ายนั้น โดยตักตวงประโยชน์จากทั้งสองฝ่ายอย่างไม่บริสุทธ์ใจ โบราณท่านจึงเปรียบบุคคลนั้นเหมือนเหยียบเรือทั้งสองฟากหรือสองแคม

มักใช้แสดงความหมายในทางไม่ดี หรือแสดงนิสัยที่ไม่ดีของคนที่เหมือนเป็นนกสองหัว

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยเหยียบเรือสองแคม

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตเหยียบเรือสองแคม

  • กลุ่มหนึ่งมองเห็นความเป็นจริงเหล่านี้กระจ่างชัด สวรรค์ไม่ได้อยู่บนฟ้า นรกไม่ได้อยู่ใต้ดิน จึงมีสำนวนสวรรค์ในอกนรกในใจ ใครอยากอยู่บนสวรรค์ หรือคิดหาทางเลี่ยงให้พ้นนรก ไม่บ่อยนักได้ ก็คุ้มแล้ว ไม่เหยียบเรือสองแคม
  • สมชายเขาเป็นพวกเหยียบเรือสองแคม คอยดูแต่ว่าข้างไหนเป็นฝ่ายชนะก็เข้าข้างนั้น
  • สรุปคุณจะเลือกทำงานกับบริษัทไหนกันแน่ อย่ามัวแต่เหยียบเรือสองแคม ทำงานทั้งสองที่ ผมต้องการคนที่ตั้งใจ ทุ่มเทให้กับบริษัทนี้เท่านั้น
  • เราไม่ควรไว้ใจคนที่เหยียบเรือสองแคม เพราะบุคคลประเภทนี้ไม่มีความจริงใจ มุ่งหวังแต่ผลประโยชน์
  • ความจริงที่ทำใจยอมรับได้ยากก็คือ การเหยียบเรือสองแคม ต้องลงคนเดียว พายไปคนเดียว ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน จึงจะไปถึงที่หมาย ทว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าที่หมายนั้นมีอยู่จริง หรือเป็นที่สุดแห่งทุกข์จริง

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยหัวหลักหัวตอ ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ห. หัวหลักหัวตอ

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยหัวหลักหัวตอ

ที่มาของสำนวนนี้ สำนวนนี้เปรียบเปรยสิ่งที่ถูกมองข้ามไม่เห็นความสำคัญ เหมือนกับตอไม้ซึ่งส่วนของลำต้นไม่มีแล้ว เป็นต้นไม้ที่ได้ตายลงไปแล้วเหลือแต่ตอ จึงทำให้ถูกมองว่าไร้ค่านั่นเอง

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ ถูกมองข้ามในบางเรื่องว่าไม่สำคัญ แต่จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เช่น บุคคลที่นึกว่าตนเป็นคนสำคัญแต่คนอื่นมองข้ามไป เวลาทำงานสำคัญก็ไม่ปรึกษา, ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ถูกผู้น้อยมองข้ามไป เวลาทำงานสำคัญก็ไม่ปรึกษาหารือก่อน (มักใช้ในลักษณะแสดงความน้อยอกน้อยใจ)

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยหัวหลักหัวตอ

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตหัวหลักหัวตอ

  • เขาเห็นเราเป็นหัวหลักหัวตอไปได้ จะทำอะไรก็ไม่ปรึกษาหารือ
  • นี่ลูกเห็นพ่อแม่เป็นหัวหลักหัวตอหรือยังไง ออกไปไหนค่ำๆ ไม่บอกกล่าวกันเลย
  • เหมือนหัวหลักหัวตอ ตำรวจได้แต่ห้ามไม่มีใครฟัง กลุ่มชายฉกรรจ์ยกพวกกว่า 30 คน รุมตีอริ หน้าโรงพักระยอง หลังคู่กรณีมาแจ้งความถูกทำร้าย ตามมาซัดกันนัวแล้วหนีขึ้นรถ ปมเขม่นในธุรกิจรถพ่วงเหมือนกัน
  • เด็กสมัยนี้เห็นคุณครูเป็นหัวหลักหัวตอ เดินผ่านจะชนกันอยู่แล้ว ก็ยังไม่ยกมือไหว้เลย
  • ผู้บริหาร‘ทีโอที’เย้ยบอร์ดหัวหลักหัวตอเร่งประมูลช็อตลิสต์ 4.6 พันล้านบาท

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยหัวมังกุท้ายมังกร ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ห. หัวมังกุท้ายมังกร

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยหัวมังกุท้ายมังกร

ที่มาของสำนวนนี้ “ขุนวิจิตรมาตรา” หรือ “กาญจนาคพันธุ์” ได้เขียนไว้ในหนังสือสำนวนไทย ภาค 2 ห้างหุ้นส่วนจำกัดรวมสาส์น วังบูรพา เป็นผู้พิมพ์จำหน่าย ท่านอธิบายไว้ว่า คำว่า “มังกุ” ได้พบหนังสือเก่าแปลว่า “เรือต่อ” ชนิดหนึ่งเป็นรูปยาว กับแปลว่าเป็นชื่อสัตว์นิยายชนิดหนึ่ง ไม่บอกว่ารูปร่างอย่างไร สันนิษฐานตามนี้ ทำให้เข้าใจว่าเรือมังกุนั้นคงจะมีหัวเป็นรูปสัตว์ ดังในเห่เรือว่า “นาวาแน่นเป็นขนัด ล้วนรูปสัตว์แสนยากร” สมัยโบราณคงจะมีเรือชนิดหนึ่ง หัวเรือทำเป็นรูปสัตว์ที่เรียก “มังกุ” แต่ท้ายเรือทำเป็นรูปอย่างมังกร รูปร่างลักษณะเรือคงจะดูแปลก จึงได้เรียก “หัวมังกุท้ายมังกร” ต่อมาคำ “หัวมังกุท้ายมังกร” เลยกลายเป็นสำนวนหมายถึงอะไรที่ในตัวมีลักษณะต่างกัน ไม่เป็นไปตามที่ควรเป็น คือเข้ากันไม่ได้ ขัดกัน ขืนกัน ไม่กลมกลืนกัน

ฉะนั้น สำนวนที่ถูกจึงควรจะพูดว่า “หัวมังกุท้ายมังกร” เพราะทั้ง “มังกุ” และ “มังกร” ต่างก็เป็นสัตว์ในนิยายเหมือนกัน แต่เป็นคนละชนิดกัน เมื่อมาอยู่รวมกันจึงทำให้ไม่กลมกลืนกัน เข้ากันไม่ได้ หากพูดว่า “หัวมงกุฎท้ายมังกร” ก็จะเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าสำนวนนี้ใช้ในความหมายว่า ไม่เข้ากัน เหมือนอย่างมังกรสวมมงกุฎ ทำให้ความหมายเพี้ยนไปจากที่มาเดิม

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ ไม่เข้ากัน ไม่กลมกลืนกัน ขัดกันในตัว ทรวดทรงเรือนร่างต่างลักษณะไม่กลมกลืนกันตามที่ควรเป็น มีหลายอย่างปนเปกันจนหมดงาม

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยหัวมังกุท้ายมังกร

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตหัวมังกุท้ายมังกร

  • ครูจะมีเวลาพอสอนแบบลงมือปฏิบัติจริง ในขณะที่มีการลดเวลาเรียน ได้ทันจบเนื้อหาวิชาเรียนในหลักสูตรฐานสมรรถนะที่มีมากถึง 8 ใน 7 กลุ่มสาระการเรียนรู้หรือไม่ ซึ่งถือว่าไปสวนทางไปคนละทิศ ไม่เข้าสำรับกัน เปรียบเหมือน “หัวมังกุฎท้ายมังกร”
  • นี่เธอ! ดูทรงผมของนักฟุตบอลคนนั้นสิ ทรงผมแปลกดีเหมือนหัวมงกุฎท้ายมังกรเลยนะง
  • “เทพไท” จวกร่างรัฐธรรมนูญลูกผสม “หัวมังกุ ท้ายมังกร” ปมห้าม ส.ส.เป็น รมต. เชื่อผิดหลักการระบบรัฐสภา ที่เคยประสบความล้มเหลวมาแล้ว
  • หลักสูตรฐานสมรรถนะที่ ศธ.กำลังจัดทำอยู่ยังเข้าข่ายเป็นหลักสูตรหัวมังกุฎท้ายมังกร กล่าวคือ ในหลักสูตรฐานสมรรถนะมีหลักการลดเวลาเรียนลง และเน้นกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนแบบให้ลงมือปฏิบัติจริง เป็น Active Learning เลิกท่องจำเนื้อหา สวนทางกับตัวหลักสูตรฐานสมรรถนะที่มีการกำหนดให้มีเนื้อหาวิชาเรียนมาก 8 ใน 7 สาระการเรียนรู้เท่าหลักสูตรเดิมดังกล่าว
  • ศิลปะบางทีก็เหมือนหัวมังกุ ท้ายมังกร อะไรต่างๆ อาจไม่เข้ากัน แต่กลับสวยงามในแบบของมัน ศิลปะกำลังจะบอกเราว่า “เพราะคำว่าสมบูรณ์แบบไม่มีในโลกใบนี้”

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube