สุภาษิตคำพังเพยวัวเห็นแก่หญ้า ขี้ข้าเห็นแก่กิน ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ว. วัวเห็นแก่หญ้า ขี้ข้าเห็นแก่กิน

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยวัวเห็นแก่หญ้า ขี้ข้าเห็นแก่กิน

ที่มาของสำนวน เป็นการเปรียบเปรยคนที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน กับวัวที่หวงหญ้าเอาไว้กินตัวเดียว หรือบ่าวรับใช้ที่เห็นแก่กิน ตะกละตะกลาม มักใช้กับลูกน้อง หรือผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ คนที่เห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ คิดจะกอบโกยเอาแต่ผลประโยชน์อย่างเดียว

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยวัวเห็นแก่หญ้า ขี้ข้าเห็นแก่กิน

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตวัวเห็นแก่หญ้า ขี้ข้าเห็นแก่กิน

  • อยากก้าวในชีวิตอย่าทำตัวเป็นวัวเห็นแก่หญ้า ขี้ข้าเห็นแก่กิน ความเห็นแก่ตัว ไม่ให้ประโยชน์อะไรแก่ตนเองและผู้อื่นแม้แต่น้อย มีแต่จะต่ำลงทุกวัน
  • พวกวัวเห็นแก่หญ้า ขี้ข้าเห็นแก่กิน ยอมเสียศักดิ์ศรีก้มหัวให้คนเลวยอมทำทุกอย่างเป็นผลประโยชน์ของตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องเลย
  • หัวหน้ามาระบายความในใจให้ผมฟังว่า ตั้งแต่รับนายดำซึ่งเป็นญาติของลูกน้องเก่าแก่ของคุณพ่อ มาทำงานด้วย ไม่มีวันไหนเลยที่นายดำจะไม่ทำตัวเป็นวัวเห็นแก่หญ้า ขี้ข้าเห็นแก่กินเลยสักวันเดียว
  • เจ้านายให้อาหารให้ที่อยู่ เลี้ยงดูดีขนาดนี้นายยังจะทำตัวเป็นวัวเห็นแก่หญ้า ขี้ข้าเห็นแก่กินอยู่อีก
  • ลูกน้องนิสัยไม่ดี โดยเฉพาะพวกคนที่เห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ วัวเห็นแก่หญ้า ขี้ข้าเห็นแก่กิน แบบนี้ต้องไล่ออกให้หมด เลี้ยงไว้บริษัทชิบหายแน่ๆ

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยเลี้ยงช้างกินขี้ช้าง ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ล. เลี้ยงช้างกินขี้ช้าง

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยเลี้ยงช้างกินขี้ช้าง

ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยถึงคนที่เลี้ยงช้างและมีกล้วยที่เป็นอาหารสำหรับช้าง แต่ไม่ยอมป้อนให้ช้างกิน กลับเอากล้วยนั้นไปขายให้คนที่สงสารช้าง ซื้อเพื่อป้อนอาหารช้างนั้นซะเอง

คนเลี้ยงช้างของหลวงในสมัยโบราณที่เรียกว่า ตะพุ่น คือ คนเกี่ยวหญ้ามาให้ช้างกิน โดยเมื่อเกี่ยวหญ้าแล้วก็จะนำมาวางกองไว้ห่างๆ ไม่ให้ช้างเอางวงตวัดหญ้ากินเองได้ เมื่อช้างหิวก็ส่งเสียงร้องและฟวดงวงไปมา คนที่เดินผ่านมาก็เกิดความสงสัยถามว่าทำไมถึงไม่เอาหญ้าให้ช้างกิน คนเลี้ยงก็ตอบว่าถ้าอยากให้ช้างกินหญ้าก็ช่วยซื้อหญ้าให้ช้างกินหน่อยเถอะ ด้วยความสงสารคนที่เห็นดังนั้น ก็เลยต้องซื้อหญ้าให้ช้างกิน คนเลี้ยงช้างก็เลยได้เงินค่าหญ้าไปฟรีๆ

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ การหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากงานที่ทํา กล่าวคือ คนที่หาประโยชน์จากงานที่ตนเองทำอยู่ ใช้เปรียบเทียบคนที่ทำงานชนิดใดแล้วพลอยมีส่วนได้ประโยชน์จากงานนั้น แต่เป็นประโยชน์ที่ไม่ถูกต้อง ไม่บริสุทธิ์

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยเลี้ยงช้างกินขี้ช้าง

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตเลี้ยงช้างกินขี้ช้าง

  • สมชายเป็นพวกเลี้ยงช้างกินขี้ช้าง ชอบขอความเห็นใจให้ซื้อปลาไปปล่อย สุดท้ายก็จับปลาที่คนอื่นปล่อยนั่นแหละ มาวนขายอีกที ได้ทั้งขึ้นทั้งล่องจริงๆ
  • เขาขายข้อมูลสินค้าใหม่ของบริษัทให้กับคู่แข่งเพราะได้เงินตอบแทนเข้ากระเป๋าตัวเองเป็นจำนวนมาก เพราะเขาเลี้ยงช้างกินขี้ช้างแบบนี้บริษัทเราถึงไม่มีวันชนะคู่แข่งได้เลย
  • สังคมไทยในวงราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม มีการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากโครงการต่างๆอย่างมากมาย เลี้ยงช้างกินขี้ช้างกันตรึม
  • เจ้านายไว้ใจมอบหมายหน้าที่ให้คุณควบคุมดูแลการจัดซื้อสินค้าทั้งหมด แต่คุณกลับทุจริตโดยปลอมจำนวนเงินในการสั่งซื้อสินค้าและนำส่วนต่างเข้าตัวเอง เลี้ยงกินขี้ช้างแบบนี้คงไม่มีวันเจริญหรอก
  • อยากเจริญในหน้าที่การงานอย่าเป็นคนเลี้ยงช้างกินขี้ช้าง ต้องให้เกียรติงานที่ตนเองทำ สักวันความดีและความขยันจะผลักดันเราสู่ความสำเร็จ

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยเลือกที่รักมักที่ชัง ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ล. เลือกที่รักมักที่ชัง

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยเลือกที่รักมักที่ชัง

ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยถึงการเลือกแต่สิ่งที่ชอบ สิ่งที่รัก ด้วยความลำเอียง และก็ชังสิ่งที่เกลียดด้วย โดยไม่ไตร่ตรองหรือใช้เหตุผลอะไรเลย เป็นสำนวนที่สื่อถึงความลำเอียง

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ ความลำเอียง ไม่มีความเป็นธรรม ไม่วางตัวเป็นกลาง

กล่าวคือ คนเราถ้าเลือกที่จะรักบุคคล หรือสิ่งของ ตามความพอใจของตนเองโดยไม่ใช้เหตุผล หรือ จะเกลียดจะไม่ชอบใครก็เอาใจตัวเองเป็นใหญ่ โดยไม่มีเหตุผล หรือจะตัดสินความถูกผิดก็จะตัดสินให้ผู้ที่ตนเองรักถูกต้องอยู่เสมอ บุคคลประเภทนี้เขาเรียกกันว่าสองมาตรฐาน

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยเลือกที่รักมักที่ชัง

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตเลือกที่รักมักที่ชัง

  • ‘การเลือกที่รักมักที่ชัง’ ที่นักวิทยาศาสตร์บางคนบอกว่า อาจจะเป็น ‘วิธีการเอาตัวรอด’ ของมนุษย์เพื่อให้เผ่าพันธุ์ยังดำรงอยู่ได้ โดยมี ‘วัฒนธรรม’ เข้ามาเป็นส่วนเสริมสำคัญ
  • ใครๆ ก็รักและให้ความเคารพเจ้านายคนนี้ เพราะเขาเอาใจใส่ลูกน้องทุกคน มีความเป็นธรรม ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ผิดก็ว่าไปตามผิด ถูกก็ว่าไปตามถูก
  • ถ้าเราขับรถยนต์ฝ่าฝืนกฎจราจรแล้วถูกตำรวจจราจรจับ แต่ลูกท่านหลานเธอก็ขับรถยนต์ฝ่าฝืนกฎจราจรเหมือนกับเราแต่ไม่ถูกจับ อย่างนี้ก็คือลำเอียง หรือสองมาตรฐาน โดยตำรวจเลือกที่รักมักที่ชัง และไม่ยุติธรรมนั่นเอง
  • การเลือกที่รักมักที่ชัง การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลบางคนหรือบางกลุ่ม ในทางที่โปรดปรานเหนือบุคคลอื่นหรือกลุ่มอื่นภายใต้บริบทเดียวกัน อันเนื่องมาจากการมีอคติจากการใช้ปัจจัยอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริบท เช่น เป้าหมายมีหน้าตาดึงดูดใจ มีเชื้อชาติเดียวกัน หรือตัวบุคคลมีการชื่นชอบเป้าหมายเป็นการส่วนตัว ซึ่งเป็นลักษณะอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานที่บุคคลนั้นทำ ถือเป็นรูปแบบของพฤติกรรมที่ไม่มีความยุติธรรม
  • สงสารเด็กคนนี้จริงๆ พ่อแม่เลือกที่รักมักที่ชังลำเอียงอย่างเห็นได้ชัด รักและเอาอกเอาใจแต่ลูกชาย จนทำให้ลูกสาวรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจจนกลายเด็กมีปัญหา

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยเมื่อพีเนื้อหอม เมื่อผอมเนื้อเหม็น ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ม. เมื่อพีเนื้อหอม เมื่อผอมเนื้อเหม็น

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยเมื่อพีเนื้อหอม เมื่อผอมเนื้อเหม็น

ที่มาของสำนวน ขณะที่อ้วนพี เนื้อจะมีกลิ่นหอม แต่ขณะที่ผอม เนื้อจะมีกลิ่นเหม็น

ตามปติธรรมดาธรรมชาติของสัตว์ หรือมนุษย์ ถ้าร่างกายอ้วนท้วนสมบูรณ์ผิวพรรณก็จะดูผ่องใส หรือ ถ้าเป็นสัตว์ขนก็จะปุกปุยเป็นมัน น่าดูน่าชมเชย แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าร่างกายซูบผอม ผิวพรรณก็จะดูไม่ผ่องใส หรือสีของขนก็จะดูซีดจางลง ไม่ชวนดูชวนมอง

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ เวลารวยคนมาห้อมล้อมประจบประแจง เวลาจนคนพากันหน่ายหนี

กล่าวคือ ในยามมีฐานะร่ำรวยก็จะมีคนมารุมล้อมคอยประจบประแจงอยู่ใกล้ๆ แต่ในยามยากจนก็ไม่มีใครสนใจ พากันหน่ายหนีตีตัวออกห่าง

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยเมื่อพีเนื้อหอม เมื่อผอมเนื้อเหม็น

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตเมื่อพีเนื้อหอม เมื่อผอมเนื้อเหม็น

  • ยามมั่งมีใครๆ ก็อยากเข้าหา ยามไม่มีมีแต่คนอยากจากไป นี่แหละเมื่อพีเนื้อ หอมเมื่อผอมเนื้อเหม็น มันเป็นสัจจธรรมชีวิต
  • เราอย่าไปหาความจริงใจกับคนที่อยู่รอบๆ เรามาก เวลามีเงิน เพราะคนใสมัยนี้เขาเอาเงินตราเป็นสิ่งสำคัญ ดังที่โบราณกล่าวไว้ว่าเมื่อพีเนื้อหอม เมื่อผอมเนื้อเหม็น
  • น่าสงสารนายประยุทธเสียจริงยามเมื่อพีเนื้อหอม เมื่อผอมเนื้อเหม็นจริงๆ มีอำนาจมีแต่คนอยากเข้าหา พอหมดอำนาจกลับโดนลูกน้องตัวเองซ้ำเติม นี่แหละ เวรกรรมที่ทำไว้กับคนอื่น
  • เธอจะไปหาความจริงใจอะไรกับคนเหล่านี้ คิดว่าเขาจริงใจกับเธออย่างนั้นหรือ เขาเห็นเงินตราเป็นสิ่งสำคัญ ดังที่เขาว่าเมื่อพีเนื้อหอม เมื่อผอมเนื้อเหม็นนั่นแหละ
  • ผมเพิ่งเข้าใจก็วันนี้แหละว่าเมื่อพีเนื้อหอม เมื่อผอมเนื้อเหม็น ถูกหวยรางวัลใหญ่ใครๆ เขาก็นับญาติ มาวันนี้เงินหมดญาติสักคนแทบจะหาไม่ได้

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยไม้เบื่อไม้เมา ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ม. ไม้เบื่อไม้เมา

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยไม้เบื่อไม้เมา

ที่มาของสำนวน ไม้เบื่อ ก็คือ มีท่าทีที่เบื่อหน่าย และอิดหนาระอาใจต่อกัน เพราะไม่ลงรอยกัน หรือขัดแย้งกันเป็นประจำ ส่วนไม้เมาเป็นคำสร้อยที่เสริมขึ้นมาเพื่อความสละสลวยของคำ

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ คนสองคนที่ไม่ถูกกัน ไม่ลงรอยกัน มีเรื่องขัดแย้งกันตลอด ทะเลาะกันเป็นประจำ

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยไม้เบื่อไม้เมา

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตไม้เบื่อไม้เมา

  • ฉันคิดว่าการที่เขาถูกลอบทำร้าย น่าจะเป็นฝีมือของเพื่อนร่วมงานที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาก่อน
  • สัตว์เลี้ยงบางชนิดอย่างแมวกับสุนัข เหมือนเป็น ไม้เบื่อไม้เมา กันมา เจอกันไม่ได้ ต้องกัดกัน หากตัวเท่าๆ กัน ก็อาจจะฟัดกัน พอฟัดพอเหวียง สูสี ไม่มีใครยอมใคร หากตัวเล็กกว่า ก็อาจจะถูกกัดจนตาย
  • สมชายกับสมหมายเป็นไม้เบื่อไม้เมากัน ไม่ว่าสมชายจะไปตั้งเวทีปราศรัยที่ไหน พวกสมหมายก็จะไปรบกวนอยู่เสมอๆ
  • เขาเป็นไม้เบื่อไม้เมากับผู้จัดการ ขัดแย้งกันมาตลอด ทำให้คนเก่งอย่างเขาจึงไม่ได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งเสียที
  • เด็กช่างกลของสถาบันที่อยู่ในละแวกเดียวกัน มักจะกลายเป็นคู่อริกัน เหมือน ไม้เบื่อ ไม้เมา เจอกันไม่ได้ ต้องมีเรื่องทะเลาะ ชกต่อย ไล่ฟันกัน ทำให้คนไม่เกี่ยวข้องพลอยโดนลูกหลงไปด้วย

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยแมวไม่อยู่หนูละเลิง ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ม. แมวไม่อยู่หนูละเลิง

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยแมวไม่อยู่หนูละเลิง

ที่มาของสำนวน เป็นการนำเอาธรรมชาติของหนูที่กลัวแมวมาเปรียบเทียบ โดยเปรียบแมวเป็นผู้ใหญ่ เปรียบหนูเป็นผู้น้อยนั่นเอง เมื่อผู้ล่าไม่อยู่ ผู้ถูกล่าย่อมร่าเริง

คำว่า ละเลิง เป็นคำเก่าที่มีความหมายว่า เหลิงจนลืมตัว ลำพอง หรือคึกคะนอง แต่ในปัจจุบันมักจะใช้ “แมวไม่อยู่ หนูร่าเริง” และบางโอกาสสำนวนนี้ก็จะมีคำต่อท้ายสำนวนด้วย คือ “แมวไม่อยู่ หนูร่าเริง แมวมาหลังคาเปิง”

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ เวลาที่ผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจไม่อยู่ ผู้น้อยหรือเด็กจะมีความลำพองใจ เหลิง สนุกสนาน ร่าเริงเพราะไม่มีคนคอยคุมความประพฤติ

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยแมวไม่อยู่หนูละเลิง

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตแมวไม่อยู่หนูละเลิง

  • วันนี้สามีของเธออนุญาติให้ไปเที่ยว เธอก็ออกอาการแมวไม่อยู่หนูละเลิงเลย เพราะนานๆ จะได้ออกมาเที่ยวที
  • วันนี้คุณครูระเบียบติดราชการ ไม่สามารถมาสอนเด็กๆได้ ทำให้พวกเด็กพากันวิ่งเล่นสนุกนาน ส่งเสียงดังไปทั่วโรงเรียน ตรงกับสำนวนไทยที่ว่าแมวไม่อยู่หนูละเลิง
  • วันนี้ไม่มีใครอยู่บ้าน เหล่าๆ เด็กบ้านนี้ต่างพากันออกไปเล่นซุกซนกันอยู่คลองน้ำหลังบ้าน แมวไม่อยู่หนูละเลิงเต็มที่เลย
  • ช่วงนี้แมวไม่อยู่หนูร่าเริงเพราะตำรวจได้รับมอบหมายให้ไปดูแลความสงบในเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง พวกแก๊งค์มอเตอร์ไซค์ซิ่งกวนเมืองจึงกลับออกมาสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน
  • ช่วงนี้เจ้านายไม่อยู่ พนักงานเลยทำงานกันสบายมากขึ้น ปล่อยเนื้อปล่อยตัว การงานไม่ดี แมวไม่อยู่หนูละเลิงกันเลย

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยแม่สายบัวแต่งตัวค้าง ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ม. แม่สายบัวแต่งตัวค้าง / แม่สายบัวแต่งตัวเก้อ

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยแม่สายบัวแต่งตัวค้าง

ที่มาของสำนวน สันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่า สาย พ้องกับ สายบัว และคนในสมัยก่อนมักจะเจ้าบทเจ้ากลอนพูดจาอะไรก็มักจะให้คล้องจองกัน สายบัว คล้องจองกับ แต่งตัว แม่สายบัว แต่งตัวค้าง ก็คงจะมีที่มาจากเหตุนี้นี่เอง

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ แต่งตัวเก้อ คือ สาวๆ ที่แต่งตัวรอหนุ่มมารับ แต่เมื่อถึงเวลานัดแล้วเขาไม่มา หรืออาจจะใช้กับสถานการณ์อื่นก็ได้ คือใครแต่งตัวเสร็จแล้วว่าจะไปไหนก็ตามแต่ไม่ได้ไป

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยแม่สายบัวแต่งตัวค้าง

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตแม่สายบัวแต่งตัวค้าง

  • น่าสงสารเพื่อนฉันจริง นานๆ ทีจะเจอคนที่ชอบจะไปเดทกัน เขาดันไม่ว่างยกเลิกนัด ปล่อยให้เพื่อนฉันเป็นแม่สายบัวแต่งตัวเก้อเลย น่าสงสาร
  • สงสัยฉันจะกลายเป็นแม่สายบัวแต่งตัวค้างเสียแล้ว ฉันนัดเขาไว้ตั้งแต่เช้าเพื่อจะไปทำบุญด้วยกัน แต่จนป่านนี้เขาก็ยังไม่มา
  • พี่สาวจะออกไปข้างนอก เห็นพี่แต่งตัวสวยจัง พี่แต่งตัวรอวิชิตให้มารับออกไปซื้อของ แต่เลยเวลาดนัดแล้ว สงสัยจะเป็นแม่สายบัวแต่งตัวค้าง(เก้อ) เสียแล้ว
  • หล่อนอารมณ์เสียเป็นอย่างมากที่กลายเป็นแม่สายบัวแต่งตัวค้าง เพราะแฟนของหล่อนติดธุระด่วนทำให้มาตามนัดไม่ได้
  • เมื่อตอนเป็นเด็กเคยได้ยินผู้ใหญ่ล้อพี่สาวว่า วันนี้แต่งตัวสวยจริง จะไปเที่ยวไหนเหรอ แต่ระวังจะเป็นแม่สายบัว แต่งตัวค้างนะ

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยไม้ร่มนกจับ ไม้ล้มเงาหาย ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ม. ไม้ร่มนกจับ ไม้ล้มเงาหาย

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยไม้ร่มนกจับ ไม้ล้มเงาหาย

ที่มาของสำนวน คำว่า “ไม้ร่ม” ก็คือ ต้นไม้ใหญ่ที่มีใบดกหนา แผ่กิ่งก้านให้ความร่มเย็นแก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ต้นไม้ใหญ่ให้ความร่มเย็นมากเพียงใด ก็จะมีนกมาอาศัยมากเพียงนั้น ซึ่งในสำนวนนี้ใช้เปรียบกับบุคคลที่มีอำนาจวาสนา มีตำแหน่งหน้าที่การงานดี หรือมีฐานะร่ำรวย มักจะมีผู้คนมาเคารพนบนอบ หรือยอมเป็นข้าทาสบริวาร

ส่วนคำว่า “ไม้ล้ม” คือ ต้นไม้ใหญ่ที่เคยแผ่กิ่งก้านสาขาให้ความร่มเย็นแก่คนทั่วไป เมื่อต้นไม้นั้นโค่นลง หรือตายไป ผู้คนที่เคยมาอาศัยร่มเงาของต้นไม้ก็หายไปด้วย ไม้ล้มเงาหาย จึงหมายถึง คนที่เคยมีวาสนาเมื่อตกต่ำลงผู้ที่มาพึ่งบารมีก็หายหน้าไป

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ คนที่มีอำนาจวาสนา มีฐานะร่ำรวย มีหน้าที่การงานที่ดีมักจะมีคนมาขอพึ่งพาบารมี ให้ความเคารพ ส่วนผู้ที่ไร้อำนาจบารมีแม้ผู้ที่เคยพึ่งพาอาศัยก็หนีหน้าหาย

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยไม้ร่มนกจับ ไม้ล้มเงาหาย

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตไม้ร่มนกจับ ไม้ล้มเงาหาย

  • นายประยุทธตอนมีอำนาจก็เหมือนไม้ร่มนกจับ มีแต่คนเข้าหา พอหมดอำนาจก็เหมือนไม้ล้มเงาหาย ไม่มีแต่แต่คนเหลียวแล
  • ตั้งแต่เขาได้เลื่อนตำแหน่งแบบก้าวกระโดด ใครๆต่างก็มาเอาอกเอาใจ ขอพึ่งพากันมากมายเหมือนไม้ร่มนกจับ
  • เมื่อประธานบริษัทคนนั้นถูกปลดจากตำแหน่งเพราะบริหารงานผิดพลาด ลูกน้องในบริษัทที่เคยมาห้อมล้อมเอาอกเอาใจก็หายหน้ากันไปหมด เหมือนไม้ล้มเงาหาย
  • เขาก็เหมือนไม้ร่มนกจับ เป็นนายตำรวจใหญ่ในจังหวัดที่ชาวบ้านต่างก็ยึดเป็นที่พึ่งพา ให้ความเคารพ ในความสามารถและถ่อมตน
  • เมื่อสมหมายได้เลื่อนตำแหน่งเป็นประธานบริษัท ก็มีลูกน้องมาเอาอกเอาใจมากมาย เหมือนไม้ร่มนกจับ

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยไม่รู้จักเสือเอาเรือเข้ามาจอด ไม่รู้จักมอดเอาไม้เข้ามาขวาง ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ม. ไม่รู้จักเสือเอาเรือเข้ามาจอด ไม่รู้จักมอดเอาไม้เข้ามาขวาง

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยไม่รู้จักเสือเอาเรือเข้ามาจอด ไม่รู้จักมอดเอาไม้เข้ามาขวาง

ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยถึงการเอาเรือไปจอดในป่าในบริเวณที่มีเสือซึ่งเป็นสัตว์นักล่าที่อันตราย หรือเอาไม้เข้าไปขวาง ไปแหย่ในกองมอด มักจะมีอันตรายและเกิดความเสียหายตามมา

การที่เราไม่รู้จักสภาวะสิ่งแวดล้อมว่าอะไรเป็นอะไร สิ่งใดเป็นอันตรายสิ่งใดไม่เป็นอันตรายสุ่มสี่สุ่มห้าทำลงไปย่อมเป็นการเสี่ยงอันตรายมากๆ หรือ ว่าเรายังไม่รู้จักนิสัยใจคอบุคคลใดบุคคลหนึ่งดีพอ ก็อย่าไปหลวมตัวไว้วางใจมาก เขาอาจจะเป็นบุคคลชนิดที่เรียกว่า หน้าไหว้หลังหลอกก็ได้ ดังนั้นถ้าเราจะเชื่อถือผู้ใด เราต้องพิจารณาดูว่าเราสมควรที่จะทำจะเชื่อถือไว้วางใจ หรือไม่ ถ้าไม่สมควรทำ ไม่สมควรที่จะเชื่อถือ ก็อย่าไปฝืนทำฝืนเชื่อถือไว้ใจ เพราะอาจจะเกิดอันตรายร้ายแรงแก่ตัวเราได้

สรุปความหมายของสำนวนนี้ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ การกระทำในสิ่งที่ไม่รู้ว่าอาจจะมีภัยหรืออันตรายมาถึงตัว ซึ่งการกระทำนั้นอาจจะเกิดจากความโง่เขลา หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยไม่รู้จักเสือเอาเรือเข้ามาจอด ไม่รู้จักมอดเอาไม้เข้ามาขวาง

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตไม่รู้จักเสือเอาเรือเข้ามาจอด ไม่รู้จักมอดเอาไม้เข้ามาขวาง

  • น่าสงสารเสียจริง ประยุทธจะช็อตปลาด้วยไฟฟ้า ดันไปโดนช็อตเสียเอง ตายอนาถในคูน้ำเลย ไม่รู้จักเสือเอาเรือเข้ามาจอด ไม่รู้จักมอดเอาไม้เข้ามาแหย่เสียจริง
  • ท้าใครไม่ท้า ไปท้าแข่งว่ายน้ำกับแชมป์ 7 สมัยอย่างเขา เข้าทำนองไม่รู้จักเสือเอาเรือมาจอด ไม่รู้จักมอดเอาไม้มาขวางจริงๆ
  • จากกรณีพวกนักเลงโซเชียลได้ด่าคนอื่นตามคำยุยงของแกนนำโดยไม่ได้ยั้งคิดว่าการกระทำนั้นถูกหรือผิด ประดุจดั่ง ไม่รู้จักเสือเอาเรือเข้ามาจอด ไม่รู้จักมอดเอาไม้เข้ามาขวาง เมื่อถูกดำเนินคดีแล้วไม่มีผู้ใดยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเลย
  • ไม่รู้จักเสือเอาเรือมาจอด ไม่รู้จักมอดเอาไม้มาขวางเสียแล้วที่คุณไปมีเรื่องชกต่อยกับลูกผู้มีอิทธิพล ระวังเรื่องจะไม่จบง่ายๆ
  • ที่นี่บราซิล อย่าใส่เครื่องประดับเต็มตัวในสถานที่ที่มีโจรขโมยเยอะ เดียวจะหาว่าไม่เตือน ไม่รู้จักเสือเอาเรือเข้ามาจอด ไม่รู้จักมอดเอาไม้เข้ามาแหย่ จำไว้

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยใจซื่อมือสะอาด ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ จ. ใจซื่อมือสะอาด

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยใจซื่อมือสะอาด

ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยถึงคนที่มีใจที่ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา มีมือที่ขาวสะอาด ไม่ด่างพร้อย ในการทุจริตหรือคดโกงอะไรก็ตามแต่ สื่อถึงการเป็นคนดีที่น่ายกย่อง

สรุปความหมายของสำนวนนี้ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ คนที่มีความประพฤติดี มีความซื่อสัตย์สุจริตไม่คดโกงหรือฉ้อราษฎร์บังหลวง

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยใจซื่อมือสะอาด

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตใจซื่อมือสะอาด

  • บริษัทที่ดีต้องการคนใจซื่อมือสะอาด ที่พร้อมจะนำองค์กรสู่ความเจริญ เป็นที่นับหน้าถือตาของผู้อื่น
  • ประชาชนต้องการนักการเมืองที่ใจซื่อมือสะอาดอย่างแท้จริง มีความเสียสละ มุ่งมั่นที่จะบริหารประเทศด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
  • ใจซื่อมือสะอาด นิยมใช้กับคนที่ซื่อตรง ไม่คดโกง หรือฉ้อราษฎร์บังหลวง ทำอะไรตรงไปตรงมา ไม่มีนอกมีใน ส่วนมากจะใช้กับบุคคลที่รับราชการ หรือนักการเมืองที่เป็นคนดี อุทิศตนเพื่อความสุขของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช้อำนาจหน้าที่เพื่อหาประโยชน์ใส่ตนเอง
  • นายตำรวจคนนี้เป็นที่ชื่นชมยกย่องของชาวบ้านว่าเป็นคนที่มือสะอาด เนื่องจากเขาปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ไม่คดโกง คอยให้ความช่วยเหลือชาวบ้านเสมอมา
  • ผมมุ่งมั่นที่จะเป็นราชการที่ดี รับใช้ประชาชนด้วยความจริงใจ ใจซื่อมือสะอาดเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube