สุภาษิตคำพังเพยไก่อ่อนสอนขัน คนงามเพราะแต่ง ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ก. ไก่อ่อน, ไก่อ่อนสอนขัน

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยสุภาษิตไก่อ่อนสอนขัน

ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยถึงไก่ที่มีอายุน้อยๆประมาณ 4 – 6 เดือน ในระยะนี้ไก่ตัวผู้จะเริ่มฝึกหัดขัน ยังออกเสียงขันไม่ชัดเจนเหมือนเด็กๆ ที่กำลังหัดพูดอ้อๆ แอ้ๆ เราเรียกกันว่าสอนขันนั่นเอง

สรุปความหมายของสำนวนนี้ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ ผู้มีประสบการณ์หรืออายุยังน้อย ยังไม่รู้ทันเล่ห์เหลี่ยม กลโกงของคน ทำให้ถูกหลอกได้ง่าย

ผู้ที่มีอายุยังน้อยจึงมีประสบการณ์น้อย ยังไม่รู้ทันเล่ห์เหลี่ยมของคน หรือวัยรุ่นที่กำลังแตกเนื้อหนุ่มเนื้อสาว ย่อมมีประสบการณ์น้อยโลกทัศน์ยังไม่กว้างไกลลึก ย่อมรู้ไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมต่างๆของผู้คนที่มากด้วยประสบการณ์ได้ และยังเชื่ออะไรอย่างง่ายๆ ขาดการไตร่ตรองยั้งคิดพิจารณา ไม่มีเหตุผล และเอาแต่ใจตนเองอีกด้วย ฉะนั้นจึงถูกหลอกลวงได้ง่ายมากๆ

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยไก่อ่อนสอนขัน

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตไก่อ่อนสอนขัน

  • ผมก็เป็นแค่ไก่อ่อนสอนขัน เพิ่งเข้ามาศึกษาเรื่องรถยนต์ได้ไม่นาน ยังไงรบกวนทุกท่านให้คำแนะนำด้วยนะครับ
  • เด็กมัธยมต้นยังไม่มีความรู้ และ ประสบการณ์ทางเพศเปรียบประดุจดั่งว่า ไก่อ่อน, ไก่อ่อนสอนขัน ผู้ปกครองควรจะเอาใจใส่คอยให้คำปรึกษา และแนะนำอยู่บ่อยๆ
  • ทำเป็นเก่งอวดเบ่งไปเถอะ ไก่อ่อนสอนขันอย่างพวกแก จะไปรู้ทันคนมีประสบการณ์โชกโชนได้อย่างไร ระวังจะโดนเอาง่ายๆ
  • ทั้งที่ก่อนจะไปออกรายการให้สัมภาษณ์ในลักษณะนี้ จำเป็นต้องมีทีมงานและกุนซือเตรียมความพร้อมทำการบ้าน ทั้งเก็งคำถามและไกด์ไลน์คำตอบอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ ทำให้เกิดความฉงนอยู่ไม่น้อยกับกรณีที่เกิดขึ้น ในความ “ไก่อ่อน สอนขัน”ของเธอที่ปรากฎ
  • คนทุกคนล้วนผ่านการเป็นไก่อ่อนสอนขันมาแล้วทั้งนั้น การใช้ชีวิต และเติบโตขึ้นด้วยสติ มั่นหาความรู้อยู่เสมอๆ สามารถเอาตัวรอดจากโลกอันแสนโหดร้ายนี้ได้ จำไว้อย่าไว้ใจคน คนก็คือคนสองหน้าใส่หน้ากาก

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยของหายตะพายบาป ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ข. ของหายตะพายบาป

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยของหายตะพายบาป

ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยถึงสิ่งของได้สูญหายไปแล้ว แต่เจ้าของ(ผู้ที่ทำของหาย) กลับยังต้องมีบาปติดตัวอีก(ตะพายบาป) เพราะจิตใจไม่สงบสงสัยคนโน้นคนนี้ลักขโมยไป

การสะพายบาป หรือ ตะพายบาป ก็คือ เมื่อทรัพย์สินสิ่งของของเราหายไป ใจเราก็คิดว่ามีบุคคลใดบุคคลหนึ่งลักขโมยทรัพย์สิ่งของไป ทั้งๆที่ยังไม่มีประจักษ์พยาน แสดงว่าจิตใจเราคิดในเรื่องอกุศลมันก็คือบาป แสดงว่าของหายแล้วยังนำเอาบาปติดตามไปด้วย

สรุปความหมายของสำนวนคือ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คือ ของหาย หรือเข้าใจว่าหายแล้วโทษคนอื่นซึ่งไม่ได้เอาไป

มักใช้กับคนที่ทำของหาย และเมื่อของหายหรือเข้าใจว่าหายไปแต่เห็นการณ์ยังไม่แน่ชัด แล้วเที่ยวไปโทษ กล่าวหาผู้อื่น ว่าเป็นผู้เอาไป ด้วยจิตใจที่อกุศล คิดไม่ดี

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยของหายตะพายบาป

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตของหายตะพายบาป

  • คนที่ชอบโวยวาย โดยเฉพาะเมื่อหาของของตนเองไม่พบ ก็มักจะคิดว่าของตนเองหายเพราะถูกขโมย (ในความเป็นจริงอาจจะแค่ยังหาไม่เจอ) ก็จะเที่ยวโวยวาย โทษคนนั้นคนนี้ว่าเป็นคนขโขมยของๆ ตน ส่วนมากจะหน้าแตกเมื่อพบว่าตัวเองไปลืมวางเอาไว้ที่ไหนเสียเอง คนประเภทของหายตะพายบาปมีอยู่จริงๆ
  • เขาลืมเอาโทรศัพท์มาจากบ้าน พอถึงที่ทำงานกลับคิดว่าวางไว้ในที่ทำงาน นึกว่าต้องมีใครลักขโมยไป แบบนี้เข้าตำราของหายตะพายบาปอย่างแท้จริง
  • ฉันว่าเรื่องนี้ต้องเป็นของหายตะพายบาปแน่ๆ เพราะไม่มีใครมีกุณแจ หรือสามารถเข้าไปในห้องของเขาได้เลย แต่กลับมาโทษคนอื่นว่าต้องมีคนเอาไป
  • เธอนี่มันหลายครั้งแล้วนะที่ ของหายตะพายบาป หัดเก็บไว้ให้เป็นที่เสียบ้างซิ อยู่กันแค่นี้ใครมันจะไปเอาของของเธอ
  • คนแบบนี้ก็มี! ลืมโทรศัพท์ไว้เองแท้ๆ แทนที่จะใจเย็นๆ หาก่อน กลับมาโทษคนอื่นว่าขโมย สุดท้ายเป็นไง ลืมเอง เขาไม่ฟ้องกลับก็บุญแล้ว นี่แหละของหายตะพายบาป ใช้อารมณ์แย่ๆ แก้ปัญหา

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ข. ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง

ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยถึงผลไม้ ที่ภายนอกผลสวยงาม แต่ภายในนั้นเป็นโพรงเนื่องจากมีแมลงกินหมดแล้ว ตัวอย่างเช่น มะเดื่อ เมื่อผลมะเดื่อเมื่อสุกจะมีสีสันสวยงาม แต่ข้างในจะมีหนอน มีแมลงหวี่อยู่ ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรงนั่นเอง

สรุปความหมายของสำนวนคือ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คือ สิ่งที่ดูภายนอกแล้วดูสวยงามดูดี แต่แท้จริงแล้วภายในนั้นดูแย่และไม่ดีเอาเสียเลย หรือลักษณะภายนอกดูสวยงาม เป็นของดีมีคุณค่า แต่แท้จริงแล้วกลับไม่ใช่ของดีมีคุณค่าอย่างที่คิด

นิยมใช้เปรียบเทียบถึงคนที่เมื่อดูภายนอกแล้วดูดีมากๆ แต่ในความจริงแล้วกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น ดีแต่ภายนอก อาจจะสุขภาพแย่ การเงินไม่คล่องตัว หรือจิตใจ, นิสัยแย่เอามากๆ

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง

  • รถยนต์คันนี้ หากดูเฉพาะสีสันภายนอก เหมือนยังดูดี สภาพดี แต่แท้ที่จริงแล้ว ข้างในมีปัญหามาก เครื่องยนต์ไม่ดี แอรเสีย ห้องโดยสาร เบาะฉีกขาด พรมขึ้นรา ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง
  • ไม่คิดเลยว่าผู้หญิงที่เพียบพร้อม หน้าตาดี มารยาทเรียบร้อยอย่างเธอ จะกลายเป็นพวกข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง มีจิตใจโหดเหี้ยมแบบนี้
  • ดวงกมลหญิงสาวแสนสวยรวยเสน่ห์ ใครเห็นก็ต้องชอบในรูปลักษณ์ภายนอกของเธอ แต่ภายในจิตใจของเธอนั้นกลับเต็มไปด้วยความชั่วร้ายคิดอาฆาตพยาบาท เห็นแก่ตัวเป็นที่สุด ไม่ว่าใครจะดีจะร้าย เธอก็ไม่สนใจมุ่งแต่จะกอบโกยผลประโยชน์ย่างเดียว
  • ครอบครัวนี้ ข้างนอกสุกใส ข้างในเป็นโพรง ภายนอกดูดี มีเงิน มีฐานะ มีหน้าตาทางสังคม แต่แท้ที่จริงแล้ว เป็นหนี้สินมากมาย รอวันโดนธนาคารยึดทรัพย์
  • ภายนอกทำตัวเป็นไฮโซ หรู ดูดี แต่จริงๆแล้วมีหนี้สินอยู่มากมาย ข้างนอกสุกใส ข้างในเปนโพรงชัดๆ ฉันไม่น่าหลงเชื่อเธอได้ตั้งนาน

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยข้านอกเจ้าข้าวนอกหม้อ ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ข. ข้านอกเจ้าข้าวนอกหม้อ

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยข้านอกเจ้าข้าวนอกหม้อ

ที่มาของสำนวน ในสำนวนนี้คือบริวาร หรือคนรับใช้ทำงานนอกเหนือคำสั่งของเจ้านาย (ย่อมเป็นผลเสียแก่เจ้านาย) และข้าวที่หุงแล้วมันล้นออกมานอกหม้อ (ย่อมไม่เป็นผลประโยชน์แต่อย่างใด) ดังนั้นทั้งสองกรณีนี้ นอกจากไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรแล้ว ยังกลับทำให้เดือดร้อนอีก

ถ้าบริวาร หรือลูกน้อง หรือผู้ใต้บังคับบัญชา ทำงานนอกเหนือคำสั่งของเจ้านาย ย่อมทำให้ผู้เป็นนายได้รับความเดือดร้อน และเกิดความเสียหายขึ้นมาได้ เปรียบเสมือนดั่งข้าวที่หุงแล้วมันล้นออกมานอกหม้อ ส่วนที่ล้นออกมานอกจะไม่เกิดประโยชน์อะไรแล้ว ยังทำความลำบากให้ต้องเก็บไปทิ้ง และเช็ดถูอีกนั่นเอง

สรุปความหมายของสำนวนคือ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คือ การกระทำหรือประพฤติปฏิบัติอะไรออกไปนอกเหนือจากคำสั่ง นอกแบบอย่างขนบธรรมเนียมประเพณี

จำนวนคนซึ่งมีจำนวนมากย่อมกระทำหรือประพฤตินอกออกไปจากคำสั่งหรือแบบอย่างขนบธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันมามากเช่นกัน ดังข้อความว่า กาลแต่ก่อนเจ้านายน้อยตัวก็ไม่รั่วไม่ร้ำข้างไหนหนัก ครั้นภายหลังเจ้านายมากขึ้นก็เกิดการรั่วร้ำไปต่างๆ เป็นการข้านอกเจ้าเข้านอกหม้อ ลูกนอกพ่อหลานนอกปู่ เป็นขึ้น

กล่าวคือ ผู้ใต้บังคับบัญชา หรือบริวาร ไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผน หรือทำงานนอกเหนือคำสั่ง นอกแบบอย่างขนบธรรมเนียมประเพณี เป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยข้านอกเจ้าข้าวนอกหม้อ

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตข้านอกเจ้าข้าวนอกหม้อ

  • นายเดชาไม่ค่อยถูกกับหัวหน้า เพราะเขาชอบทำตัวเป็นพวกข้านอกเจ้า ข้าวนอกหม้อ หัวหน้าสั่งให้ทำแบบนี้ แต่เขากลับทำแบบนั้น
  • สมชาย ชอบทำงานเอาหน้า เขากระทำตนเป็นข้านอกเจ้าข้าวนอกหม้อ แอบเรี่ยไรเงินจากพนักงานในบริษัท มาจัดงานวันเกิดให้ผู้จัดการ
  • ทุกองค์กรมีกฏระเบียบที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามไม่ใช่ทำตัวเป็นข้านอกเจ้า เข้านอกหม้อแบบนี้ระวังจะถูกเชิญให้ออกจากงานโดยไม่รู้ตัว
  • วิชิตไม่ค่อยลงรอยกับเจ้านาย ก็เพราะหล่อนชอบทำตัวเป็น ข้านอกเจ้า ข้าวนอกหม้อ สั่งให้ทำอะไรก็คอยแต่จะนอกลู่นอกทางตลอด
  • เป็นข้าราชเป็นคนของแผ่นดินอย่าทำอะไรเป็นข้านอกเจ้าข้าวนอกหม้อ นอกจากจะไม่มีใครเคารพแล้ว ยังเสี่ยงที่จะทำงานแบบอยู่ไม่สุขอีกด้วย ต้องฟังผู้หลักผู้ใหญ่ในเรื่องที่ถูกต้องเสมอ

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยขายหน้าวันละห้าเบี้ย ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ข. ขายหน้าวันละห้าเบี้ย

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยขายหน้าวันละห้าเบี้ย

ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยถึงการขายหน้าทุกๆ วัน วันละห้าเบี้ยห้าเบี้ย ถือว่าเป็นเงินจำนวนที่น้อยมากๆ ถ้าเราขายหน้า เสื่อมเกียรติยศ และศักดิ์ศรี ได้ทุกๆ วัน วันละห้าเบี้ย ก็คือวันละเล็กละน้อย ดังนั้นขายหน้าวันละห้าเบี้ย เสมือนดั่งกับว่าขายหน้าวันละเล็กละน้อยนั่นเอง

สรุปความหมายของสำนวนคือ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คือ ทําให้ต้องอับอายขายหน้าอยู่ทุกวัน อยู่เป็นประจำ กล่าวคือ เสียเกียรติยศ เสียศักดิ์ศรีอยู่ทุกวี่ทุกวัน

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยขายหน้าวันละห้าเบี้ย

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตขายหน้าวันละห้าเบี้ย

  • สมชายต้องยอมขายหน้าวันละห้าเบี้ยอยู่บ่อยๆ เนื่องจากทำสิ่งที่แตกต่างจนคนอื่น สังคมในอุดมคติ แต่ในที่สุดแล้ว เขาไม่ยอมแพ้ และไม่สนใจจะคิดยังไง จนประสบความสำเร็จในชีวิตมากที่สุด
  • น้องของเราแต่ละวันก็ทำขายหน้าอยู่เรื่อยๆ ทำอะไรผิดๆถูกๆอยู่แทบทุกวัน เช่น สวมถุงเท้าสลับคู่สลับสี เอาสีฟ้ามาสวมคู่กับสีชมพู หรือชอบสวมรองเท้าสลับคู่อยู่บ่อยๆ อย่างนี้เข้าตำราขายหน้าวันละห้าเบี้ย
  • เพราะคุณตาเคยหลอกให้ชาวบ้านแถวนี้ซื้อที่ตาบอด ทำให้ถูกตราหน้าว่าเป็นคนขี้โกง จนปัจจุบันนี้แม้คุณตาจะไม่อยู่แล้ว แต่ชาวบ้านก็ยังแค้นเคืองทำให้ฉันต้องอับอายขายหน้าวันละห้าเบี้ยอยู่เสมอ เพราะใครๆ ก็มองว่าครอบครัวนี้ขี้โกง
  • นี่คุณชวนผมทะเลาะอยู่ทุกวัน จะให้ผมขายหน้าวันละห้าเบี้ยหรือยังไง อายชาวบ้านชาวช่องเขาบ้าง
  • ขายหน้าวันละห้าเบี้ย วงการสีกากี มีเรื่องให้ต้องอับอายทุกวัน แต่ละอย่างหน้าขายหน้าทั้งนั้น จนประชาชนเริ่มหมดศรัทธา

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยข้าวยากหมากแพง ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ข. ข้าวยากหมากแพง

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยข้าวยากหมากแพง

ที่มาของสำนวน มาจากสมัยก่อน ข้าวยาก คือการหาข้าวยากเพราะปลูกไม่ได้ผล ผลผลิตน้อยไม่พอต่อการบริโภค หมากแพงคือ สมัยก่อนหมากจะไม่มีการซื้อขายจะมีการแบ่งปันกัน ใครปลูก เก็บผลได้ก็แลกหรือแบ่งเพื่อนบ้าน ที่ว่าแพงเพราะว่าจะมีการซื้อขายเป็นของที่หายาก และอาจเกิดขึ้นในภาวะ ที่บ้านเมืองเกิดสงคราม ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือเกิดความวุ่นว่าย จึงทำให้สินค้าของกินของใช้มีราคาแพง

คำว่า “ข้าวยาก” กับ “หมากแพง” ข้าวยาก หมายถึง ข้าวหาได้ยากและมีราคาแพง ส่วนคำว่า หมาก ในสำนวนนี้หมายถึง หมากที่กินกับพลู และหมายถึง ผลไม้ คำว่า หมาก ที่แปลว่าผลไม้ปรากฏในคำว่า ผลหมากรากไม้ และในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่า หมากส้ม หมากหวาน หมายถึงผลไม้รสเปรี้ยวและผลไม้รสหวาน ดังนั้น หมากแพง จึงหมายถึง หมากและผลไม้มีราคาแพง

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ ภาวะขาดแคลนอาหาร ทุพภิกขภัย กล่าวคือ การที่อาหาร สิ่งของ เครื่องมือเครื่องใช้ หรือเครื่องอุปโภคบริโภคทั้งหลาย ขาดแคลน และมีราคาแพง

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยข้าวยากหมากแพง

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตข้าวยากหมากแพง

  • ประเทศที่อยู่ในสภาวะสงคราม มักจะพบเจอกับเหตุการณ์ข้าวยากหมากแพง เพราะเครื่องอุปโภคบริโภคทั้งหลายจะขาดแคลน จนทำให้ทุกอย่างมีราคาสูงขึ้น ประชาชนก็อยู่กันอย่างลำบาก
  • ในภาวะที่การผลิตไม่ได้ผลหรือเกิดภัยธรรมชาติ ทำให้ข้าวมีปริมาณน้อยและหาได้ยาก ข้าวก็จะมีราคาแพง เมื่อข้าวมีราคาแพง หมาก ผลไม้ รวมทั้งสินค้าอื่นๆ ก็จะมีราคาแพงด้วย ทุกวันนี้คนไทยต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจยุคข้าวยากหมากแพง ทั้งน้ำมันแพง ไข่แพง ทำให้สินค้าอื่นๆ ราคาแพงไปตามๆ กัน
  • ในยุคข้าวยากหมากแพงเช่นนี้ จะจับจ่ายใช้สอยอะไรต้องดูให้ดี เลือกเฉพาะเท่าที่จำเป็นไม่เช่นนั้นต่อไปเราจะอยู่กันอย่างลำบาก
  • ยุคข้าวยากหมากแพงในอดีต อาจฉายให้เห็นภาพในมุมของราษฎรทั่วไปที่ซื้อข้าวราคาแพง แต่ยุคข้าวยากหมากแพงในปัจจุบัน อาจฉายให้เห็นภาพอีกมุมหนึ่งของชาวนาที่ขายข้าวราคาถูก แต่ราษฎรทั่วไปก็ยังซื้อข้าวราคาแพง
  • การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและพอเพียง ปลูกพืชผัก เลี้ยงสัตว์ แม้ในประเทศจะมีปัญหา ข้าวยากหมากแพง อาหารของใช้ สิ่งของมี ราคาแพง แต่ก็จะไม่ส่งผลกระทบมากนัก เพราะมีพืชผักไว้กินเอง ไม่เดือดร้อนมากนัก

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยข้าวเหลือเกลืออิ่ม ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ข. ข้าวเหลือเกลืออิ่ม

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยข้าวเหลือเกลืออิ่ม

ที่มาของสำนวน สำนวนนี้พูดถึงคนไทยกินข้าวเป็นอาหารหลัก คนไทยส่วนใหญ่จึงมีอาชีพทำนา บางพื้นที่ของประเทศไทยมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์มาก สามารถทำนาได้มากกว่าปีละหนึ่งครั้ง ทำให้มีข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ เมื่อข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ มีจำนวนมากเหลือกินเหลือใช้ จึงพูดว่า ข้าวเหลือ ส่วนเกลือนั้นเป็นเครื่องปรุงรสอาหารที่สำคัญ และเป็นส่วนประกอบสำคัญในการถนอมอาหารของคนสมัยก่อน เมื่อพูดว่า ข้าวเหลือ จึงต่อด้วย เกลืออิ่ม เป็นสำนวนว่า ข้าวเหลือเกลืออิ่ม

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ บ้านเมืองที่บริบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์

กล่าวคือ ทุกบ้านเรือนมีอาหารการกินอย่างอุดมสมบูรณ์ และกินไม่หมด แม้กระทั่งเกลือก็มีไว้ใช้สำหรับปรุงอาหาร และ ถนอมอาหารอย่างเหลือเฟือ

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยข้าวเหลือเกลืออิ่ม

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตข้าวเหลือเกลืออิ่ม

  • เมืองไทยเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ ข้าวเหลือเกลืออิ่ม ไม่มีใครอดตาย ในทางกลับกันนักการเมืองบางคนจ้องแต่จะสูบเลือด สูบเนื้อ สูบทรัพยากรของประเทศ
  • ผมจะตั้งใจทำมาหากินเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ ได้อยู่กันอย่างสุขสบายมีข้าวเหลือเกลืออิ่ม ไม่ต้องดิ้นรนตรากตรำทำงานเหมือนทุกวันนี้
  • พูดแล้วก็น่าสงสารชาวนา ขณะที่ตนเองอดมื้อกินมื้อ แต่คนที่ตัวเองจะเลือกเข้าไปเป็นตัวแทนในสภา และ หวังว่าได้เป็นคณะบริหารบ้านเมือง รับประทานอาหารชนิดที่เรียกว่าข้าวเหลือเกลืออิ่มกันเลย
  • คุณเล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนบ้านเรามีฐานดีมากขนาดที่เรียกว่าข้าวเหลือเกลืออิ่ม อยู่กันอย่างสุขสบาย
  • ผู้บริหารประเทศไหนถ้ามีธรรมาภิบาล ประเทศนั้นข้าวเหลือเกลืออิ่ม ประชาชนสบาย ประเทศพัฒนา ไม่เฉพาะประเทศดีขึ้น แต่มันทำให้โลกของเราดีขึ้นด้วย

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยขี่ช้างอย่าวางขอ ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ข. ขี่ช้างอย่าวางขอ

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยขี่ช้างอย่าวางขอ

ที่มาของสำนวน สำนวนสุภาษิตนี้ใช้เตือนใจผู้บังคับบัญชา โดยเปรียบเปรยถึงควาญช้าง ที่ต้องคอยถือขอสับช้างอยู่เสมอ เพื่อที่จะบังคับให้ช้างอยู่ในโอวาส ถ้าหากวางขอ หรือไม่ใช้ขอคอยสับไว้ ช้างก็อาจไม่เชื่อฟัง ไม่อยู่ในโอวาสของตนได้

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ การไว้วางใจผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครอง จนกลายเป็นความประมาท ละเลย

สำนวนนี้เอาไว้เตือนใจกับผู้ที่มีลูกน้อง หรือผู้ใต้บังคับบัญชา ต้องหมั่นกวดขันเอาใจใส่ ให้อยู่ในระเบียบวินัย ซึ่งต้องดูแลกวดขันอย่างสม่ำเสมอ

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยขี่ช้างอย่าวางขอ

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตขี่ช้างอย่าวางขอ

  • ที่เขาต้องหมดตัวอยู่ทุกวันนี้เพราะ เมื่อก่อนเขาไว้ใจลูกน้องมากเกินไปให้ลูกน้องเป็นผู้ควบคุมดูแลร้าน แล้วเขาก็รอรับรายงานอย่างเดียว มารู้ตัวว่าลูกน้องได้ตกแต่งบัญชีก็เมื่อมีธนาคารมาทวงหนี้ เข้าทำนองขี่ช้างวางขอ
  • ผู้ที่เป็นหัวหน้า ต้องคอยดูแลเอาใจใส่ลูกน้องอยู่เสมอ ไม่ปล่อยปละละเลย ดังสุภาษิตไทยที่ว่าขี่ช้างอย่าวางขอ
  • บทกลอนขี่ช้างอย่าวางขอ เป็นควาญช้างเชี่ยวชาญชำนาญข้อ อย่าปล่อยขอห่างมือหรือเลยหล่น หากหละหลวมช้างเหลิงระเริงรน จะพาผลเสียหายไม่เชื่อฟัง เหมือนเปรียบรู้ผู้เป็นเช่นหัวหน้า นั้นจงอย่าหย่อนคล้อยลับลอยหลัง รู้กวดขันมั่นวินัยให้ยืนยัง ย่อมมิพลั้งเฝื่อนเฝือ… ในเนื้องานฯ
  • ผมเคยเตือนคุณแล้วว่าอย่าขี่ช้างวางขอ ต่อให้เป็นคนสนิทแค่ไหนก็ตาม คุณต้องเข้าไปดูแลร้าน คอยตรวจสอบบัญชีบ้าง ไม่ใช่ไว้วางใจให้ลูกน้องทำทุกอย่าง สุดท้ายก็ถูกลูกน้องยักยอกสินค้าไปโดยไม่รู้ตัว
  • เป็นหัวหน้างานต้องมีเส้นแบ่งระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง ไม่อย่างนั้นคนอื่นจะเคารพเราได้อย่างไร ถ้าทำตัวให้ลูกน้องไม่นับถือ ก็จะไม่มีใครนับถือ ขี่ช้างอย่าวางขอ ให้มีขอบเขตให้ชัดเจนในการทำงาน

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยขีดเส้นตาย ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ข. ขีดเส้นตาย

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยขีดเส้นตาย

ที่มาของสำนวน เส้นตายมาจากคำภาษาอังกฤษ deadline ซึ่งแปลตรงตัวว่าเส้นตาย คำนี้ deadline เกิดขึ้นจากเรือนจำมีการขีดเส้นรอบๆเรือนจำ ถ้านักโทษคนไหนออกนอกเส้นนี้ผู้คุมสามารถยิงตายได้ ปัจจุบันเส้นตาย คือกำหนดเวลาล่าสุดที่ต้องทำงานให้เสร็จ หรือกำหนดเวลาที่ต้องส่งงาน

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ กำหนดเวลาสุดท้ายให้ หรือกำหนดวัน และเวลาสุดท้ายสำหรับการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยขีดเส้นตาย

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตขีดเส้นตาย

  • ตำรวจขีดเส้นตายให้ผู้ขับขี่รถยนต์ ห้ามใช้โทศัพท์มือถือขณะขับรถตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2557 หากผู้ใดฝ่าฝืนถือว่ามีความผิด
  • โฆษกรัฐบาลจี้ฝ่ายค้าน ทบทวนตัวเองก่อนโทษคนอื่น ชี้การขีดเส้นตายการทำงานของรัฐบาลไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายค้าน แต่เป็นอำนาจของประชาชน
  • โครงการสร้างห้างสรรพสินค้าแห่งใหม่นี้ เป็นโครงการใหญ่ผมขีดเส้นตายให้ทุกฝ่ายต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในสิ้นปีนี้ มิเช่นนั้นบริษัทเราจะต้องชดใช้ค่าเสียหายกว่า 10 ล้านบาท
  • “จงกำหนด เส้นตาย” ในการทำงาน หรือการใช้ชีวิต หากคุณคิดที่จะทำอะไรสักอย่าง แต่ไม่มีการกำหนดเวลา หรือ ขีดเส้นตายให้กับกิจกรรมนั้นๆ บ่อยครั้งที่สิ่งที่คุณตั้งใจจะทำมักจะทำไม่เสร็จ และ มักจะถูกเลื่อนออกไปอยู่เสมอๆ
  • เราสามารถวางแผนงานของตัวเองได้ดีเช่นกัน โดยการขีดเส้นตาย กำหนดเดดไลน์เวลาทำงานให้กับตัวเอง ให้เป็นสิ่งคอยกระตุ้นให้เรามีไฟที่จะทำงานต่างๆ ได้รวดเร็ว เหมือนหลอกตัวเองว่าเดดไลน์ใกล้จะมาถึงแล้วนะ รีบทำงานเดี๋ยวนี้!!

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube

สุภาษิตคำพังเพยขี้แพ้ชวนตี ความหมาย, รูป, ตัวอย่าง

สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ข. ขี้แพ้ชวนตี

ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยขี้แพ้ชวนตี

ที่มาของสำนวน มาจากการแข่งขันกีฬาต่างๆ เมื่อการแข่งขันจบลง จะมีอีกฝ่ายไม่จบ เพราะไม่พอใจผล ฝ่ายตรงข้าม หรืออะไรต่างๆ กล่าวหาฝั่งตรงข้ามของตนเสมอ โดยไม่ยอมรับคำตัดสินกรรมการ จึงเปรียบการแพ้แล้วไม่แพ้ชวนตีชวนทะเลาะต่อ

สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คือ คนที่แพ้แล้วไม่ยอมรับว่าแพ้ ชวนหาเรื่องเอาชนะด้วยกำลังต่อ แพ้ตามกติกาแล้วยังไม่ยอมรับว่าแพ้จะเอาชนะให้ได้ เป็นพวกแพ้แล้วพาล

รูปความหมายของสุภาษิตคำพังเพยขี้แพ้ชวนตี

ตัวอย่างการใช้สุภาษิตขี้แพ้ชวนตี

  • ‘ขี้แพ้ชวนตี’ บวก ‘พลังโซเชียล’ การบุกสภาคองเกรสของกลุ่มคนที่สนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผลพวงที่เกิดมาจากการ “แพ้แล้วชวนตี” ของทรัมป์ ซึ่งมีผลตามมามากมาย และเรื่องนี้น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้กับผู้นำทั่วโลกหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งในระดับชาติและในระดับท้องถิ่นว่า หากแพ้แล้ว ก็ควรจะต้องยอมรับความพ่ายแพ้แต่โดยดี อย่าได้โทษนั่นโทษนี่ และอาศัยโซเชียล มีเดีย บิดเบือนข้อมูลข่าวสารจนสร้างความร้าวฉานในประเทศ ในสังคมและในชุมชน
  • จะเป็นนักกีฬาที่ดีต้องรู้จักรู้แพ้ รู้ชนะ ไม่ใช่เป็นพวกขี้แพ้ชวนตี แพ้แล้วไม่ยอมรับแถมยังไปยกพวกตีกับเขาอีก
  • พวกขี้แพ้ชวนตี ไม่มีน้ำใจนักกีฬา ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ตามกติกาของตน เมื่อแพ้แล้วกลับพาลหาเรื่อง ท้าตีท้าต่อยไปทั่ว
  • แฟนบอลเดี๋ยวนี้มีแต่พวกขี้แพ้ชวนตี พอทีมที่ตัวเองเชียร์แพ้ก็ไม่ยอมรับ ซ้ำยังมาตีโพยตีพายกล่าวหาว่าอีกฝ่ายเล่นโกงเสมอๆ
  • คนบางคนทำผิดไม่ยอมรับผิด กลับหาเรื่องทะเลาะเขาไปทั่ว เหมือนพวกขี้แพ้ชวนตี รับประกันได้เลยว่านิสัยแบบนี้ใครก็อยู่ด้วยไม่ได้ ไม่มีใครอยากจะคบเป็นเพื่อน หรือแม้แต่จะเข้าใกล้ด้วยซ้ำ

สำนวนสุภาษิตอื่นๆ

Thai Proverb Youtube