สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ล. ลูกขุนพลอยพยัก
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยลูกขุนพลอยพยัก
ที่มาของสำนวนนี้คือ ในการพิจารณาคดีนั้นสมัยก่อน คณะลูกขุนที่ร่วมกันพิจารณาอรรถคดีที่ได้รับมอบหมาย มีความคิดเห็นสอดคล้องต้องกัน ไม่มีการทักท้วง หรือโต้แย้งกันเลย เรียกว่าว่าอย่างไรก็ว่าตามกัน
เปรียบการมีความคิดเห็นเหมือนกันโดยไม่มีการโต้แย้ง หรือทักท้วง ถ้าสิ่งนั้นชอบแล้ว และถูกต้องก็เป็นสิ่งที่ดีที่ควรยกย่อง แต่ถ้าสิ่งนั้นไม่ชอบ และไม่ถูกต้องแล้วไม่มีการทักท้วง หรือโต้แย้ง ย่อมเป็นการกระทำมิบังควร และไม่สมควรที่จะเออออห่อหมกพยักหน้าเห็นชอบด้วย
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ ผู้ที่คอยว่าตามหรือเห็นด้วยกับผู้ใหญ่เป็นเชิงประจบสอพลอผู้น้อยคอยตามผู้ใหญ่
มักใช้กับคนที่เป็นบริวาร หรือลูกน้องที่อยู่รอบๆ เจ้านาย คอยว่าตามเจ้านาย หรือรับลูกต่อจากเจ้านายทุกอย่าง แบบประจบสอพลอ ไม่มีการคัดค้าน หรือขัดขวางแต่อย่างใดเลย ประเภท “ได้ครับพี่ ดีครับผม เหมาะสมครับท่าน” ทำนองนี้
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตลูกขุนพลอยพยัก
- ไอ้พวกลูกขุนพลอยพยัก หัวหน้าว่ายังไงก็ว่าตามกันไม่คำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสมเลยเอาเสียเลย
- ถ้าเธอมัวแต่เป็นลูกขุนพลอยพยัก ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง มัวแต่ทำตามใจเจ้านายหรือ เออออตามเจ้านายก็จะได้เป็นเพียงลูกน้องตัวเล็กๆ เท่านั้น
- นิสัยเป็นคนชอบพูดเอาอกเอาใจเออออตามที่เจ้านายว่าอยู่เสมอเหมือนกับลูกขุนพลอยพยัก ที่คอยประจบสอพลอเจ้านาย
- คนอย่างเขาก็เป็นได้แค่ลูกขุนพลอยพยัก ไม่มีความคิดเป็นของตัวเองกลัวแต่ว่าขัดใจนายแล้วจะโดนลงโทษ
- นักการเมืองบางคนทำตัวเป็นลูกขุนพลอยพยัก อะไรที่ได้ผลประโยชน์กับตนย่อมเออออตามลูกพี่ ส่วนประชาชนรับกรรมเต็มๆ