สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ต. ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก
ที่มาของสำนวน มาจากนิทานพื้นบ้านเรื่อง ต่อหน้ามะพลับลับหลังตะโก
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีพระราชาองค์หนึ่งเสด็จป่าพร้อมด้วยข้าราชบริพารทั้งหลาย ซึ่ง ในป่าแห่งนั้นมีต้นตะโกเป็นจำนวนมาก เมื่อเทวดาทราบข่าวว่าพระราชาจะเสด็จมา เทวดานึกสนุกจึงได้เนรมิตต้นตะโกใหญ่ต้นหนึ่งให้เป็นต้นมะพลับที่มีลูกสุกเหลืองอร่าม หอมหวลชวนน่ารับประทาน (ลูกมะพลับนั้นกินได้ อร่อย ส่วนลูกตะโกก็กินได้ แต่มีรสฝาดกินไม่อร่อย) เมื่อพระราชาทรงทอดพระเนตรเห็นเข้าจึงอยากจะเสวย
พระราชามีรับสั่งให้มหาดเล็กไปเก็บมาให้เสวย และทรงให้แจกจ่ายพวกข้าราชบริพารที่ติดตามมาด้วย รับประทานกันอย่างอเร็ดอร่อย พระราชาทรงพอพระทัยติดอกติดใจในรสชาดของลูกมะพลับนั้นมาก
เมื่อพระองค์ก็เสด็จกลับเข้าวังไป อีกสองสามวันต่อมาพระองค์ทรงคิดถึงลูกมะพลับนั้นขึ้นมาอีก จึงใช้มหาดเล็กให้ไปเก็บลูกมะพลับต้นนั้นมาเสวยอีก
เมื่อมหาดเล็กไปถึงบริเวญป่าที่มีต้นมะพลับต้นนั้นอยู่ เทวดาก็ไม่ได้เนรมิตแล้ว คลายฤทธิ์แล้วก็เป็นต้นตะโกดังเดิม ทำให้มหาดเล็กไม่เห็นต้นมะพลับเลย เห็นแต่ต้นตะโกทั้งนั้น
มะพลับและตะโกมีผลคล้ายกัน แต่มะพลับมีรสหวานอร่อย ส่วนตะโกมีรสฝาดไม่นิยมรับประทาน
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ พูดจากลับกลอก, ต่อหน้าพูดอย่าง ลับหลังพูดอีกอย่าง ต่อหน้าทำเป็นดี แต่พอลับหลังก็นินทาหรือหาทางทำร้าย หน้าไหว้หลังหลอก ก็ว่า
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก
- คนที่มีนิสัย ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก เราควรอยู่ให้ห่าง หรือต้องระวัง อย่าเปิดเผยความลับให้รู้ เพราะอาจจะนำเรื่องของเราไปบอกคนอืนให้ได้รับความเสียหาย
- แม้ว่ามะพลับและตะโกจะมีความคล้ายคลึงกัน จัดเป็นพืชในวงศ์เดียวกัน แต่ความต่างที่เด่นชัดคือรสชาติของผล มะพลับมีรสหวานอร่อยนิยมรับประทาน ส่วนตะโกมีรสฝาดเจือแม้จะรับประทานได้ก็ไม่เป็นที่ชื่นชอบ จึงนำมาใช้เป็นสำนวนไทยว่า “ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก”
- เขารู้สึกแย่ที่รู้ว่าเพื่อนสนิทที่เขาไว้ใจกลับกลายเป็นพวกต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก หลังจากแอบได้ยินสิ่งที่เพื่อนของเขาไปนินทาว่าร้าย ต่างๆนาๆ
- ป้าแดงเป็นเพื่อนบ้านกับฉัน แกชอบมาคุยกับแม่ต่อหน้าแม่แกพูดว่าแม่ดีอย่างโน้นดีอย่างนี้ แต่พอแกไปคุยกับคนอื่นก็หาว่าแม่เป็นคนขี้เหนียว ขอยืมรถยนต์ก็ไม่ให้
- ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก นิยมใช้กับคนที่มีนิสัยกลับกลอก เชื่อถือไม่ได้ ต่อหน้าเราพูดอย่างหนึ่งทำอย่างหนึ่ง ซึ่งดีหรือเป็นคุณต่อเรา สนับสนุนเรา แต่พอลับหลังหรือเมื่ออยู่กับคนอื่นกลับนินทาว่าร้าย พูดจาให้เราเสียหายหรือให้เราถูกมองว่าเป็นคนไม่ดี