สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ย. ยาหม้อใหญ่
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยยาหม้อใหญ่
ที่มาของสำนวน มาจากการทำยาแผนโบราณของไทยประเภทหนึ่งใช้เครื่องยาแห้ง เช่น สมุนไพร ซึ่งรวมทั้งพืช กระดูกสัตว์ และแร่ธาตุ ใส่หม้อดินเผา มักมีผ้าโปร่งปิดปากหม้อเพื่อให้รินน้ำยาโดยเครื่องยาไม่ออกมาด้วย บางตำราระบุว่าต้องเคี่ยวยาให้ได้ตามกำหนด เช่น ต้มสาม เอาหนึ่ง หมายถึง การเคี่ยวยาให้น้ำในหม้องวดลงไปสองส่วน เหลือเพียงหนึ่งส่วน ยาที่ปรุงแบบนี้เรียกว่า ยาหม้อ ยาหม้อมักมีรสฝาด เฝื่อน หรือขม และเป็นยาที่ต้องกินครั้งละถ้วยใหญ่ๆ ติดต่อกันนานๆ จนคนไข้รู้สึกเบื่อ แต่ก็จำใจต้องกิน เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ในการบำบัดโรค ถ้าเป็นยาหม้อใหญ่ก็ยิ่งต้องกินติดต่อกันนานมากขึ้น สำนวน ยาหม้อใหญ่ จึงใช้เปรียบกับสิ่งที่มีประโยชน์แต่น่าเบื่อมาก
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ สิ่งที่น่าเบื่อหน่าย น่าเอือมระอา
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตยาหม้อใหญ่
- วิชาคณิตศาสตร์เป็นยาหม้อใหญ่สำหรับผมเลย เรียนไม่เข้าหัวเลย เพราะไม่ชอบจริงๆ แต่ถ้าเป็นดนตรีผมสู้ตาย
- ตอนนี้การเรียนหนังสือก็เหมือนยาหม้อใหญ่สำหรับเด็กๆ เพราะวัยนี้สนใจแต่เรื่องเล่นอย่างเดียวเลย
- เมื่อตอนที่ผมเป็นเด็กการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ก็เปรียบเสมือนยาหม้อใหญ่ของฉัน ดูเหมือนว่ามันเป็นวิชาที่น่าเบื่อหน่ายที่สุดสำหรับฉันเลย แค่จำธาตุก็ปวดหัวแล้ว
- ฉันไม่ใช่กุลสตรีที่เป็นผู้หญิงเรียบร้อย อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือนเพราะฉะนั้นงานศิลปะเย็บปักถักร้อยเป็นเหมือนยาหม้อใหญ่สำหรับฉัน
- การทำอะไรเดิมๆ ซ้ำๆ แต่ดีในทุกๆ วัน เช่น การออกกำลังกาย อาจเป็นยาหม้อใหญ่ แต่ระยะยาวแล้วมันส่งผลดีต่อตัวเรา นอกจากจะได้วินัยแล้ว ยังได้ความมั่นใจ และความแข็งแรงอีกด้วย