สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ล. เลือกที่รักมักที่ชัง
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยเลือกที่รักมักที่ชัง
ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยถึงการเลือกแต่สิ่งที่ชอบ สิ่งที่รัก ด้วยความลำเอียง และก็ชังสิ่งที่เกลียดด้วย โดยไม่ไตร่ตรองหรือใช้เหตุผลอะไรเลย เป็นสำนวนที่สื่อถึงความลำเอียง
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ ความลำเอียง ไม่มีความเป็นธรรม ไม่วางตัวเป็นกลาง
กล่าวคือ คนเราถ้าเลือกที่จะรักบุคคล หรือสิ่งของ ตามความพอใจของตนเองโดยไม่ใช้เหตุผล หรือ จะเกลียดจะไม่ชอบใครก็เอาใจตัวเองเป็นใหญ่ โดยไม่มีเหตุผล หรือจะตัดสินความถูกผิดก็จะตัดสินให้ผู้ที่ตนเองรักถูกต้องอยู่เสมอ บุคคลประเภทนี้เขาเรียกกันว่าสองมาตรฐาน
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตเลือกที่รักมักที่ชัง
- ‘การเลือกที่รักมักที่ชัง’ ที่นักวิทยาศาสตร์บางคนบอกว่า อาจจะเป็น ‘วิธีการเอาตัวรอด’ ของมนุษย์เพื่อให้เผ่าพันธุ์ยังดำรงอยู่ได้ โดยมี ‘วัฒนธรรม’ เข้ามาเป็นส่วนเสริมสำคัญ
- ใครๆ ก็รักและให้ความเคารพเจ้านายคนนี้ เพราะเขาเอาใจใส่ลูกน้องทุกคน มีความเป็นธรรม ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ผิดก็ว่าไปตามผิด ถูกก็ว่าไปตามถูก
- ถ้าเราขับรถยนต์ฝ่าฝืนกฎจราจรแล้วถูกตำรวจจราจรจับ แต่ลูกท่านหลานเธอก็ขับรถยนต์ฝ่าฝืนกฎจราจรเหมือนกับเราแต่ไม่ถูกจับ อย่างนี้ก็คือลำเอียง หรือสองมาตรฐาน โดยตำรวจเลือกที่รักมักที่ชัง และไม่ยุติธรรมนั่นเอง
- การเลือกที่รักมักที่ชัง การเลือกปฏิบัติต่อบุคคลบางคนหรือบางกลุ่ม ในทางที่โปรดปรานเหนือบุคคลอื่นหรือกลุ่มอื่นภายใต้บริบทเดียวกัน อันเนื่องมาจากการมีอคติจากการใช้ปัจจัยอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับบริบท เช่น เป้าหมายมีหน้าตาดึงดูดใจ มีเชื้อชาติเดียวกัน หรือตัวบุคคลมีการชื่นชอบเป้าหมายเป็นการส่วนตัว ซึ่งเป็นลักษณะอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานที่บุคคลนั้นทำ ถือเป็นรูปแบบของพฤติกรรมที่ไม่มีความยุติธรรม
- สงสารเด็กคนนี้จริงๆ พ่อแม่เลือกที่รักมักที่ชังลำเอียงอย่างเห็นได้ชัด รักและเอาอกเอาใจแต่ลูกชาย จนทำให้ลูกสาวรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจจนกลายเด็กมีปัญหา