สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ข. ขวานผ่าซาก
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยขวานผ่าซาก
ที่มาของสำนวน มีที่มาจากการใช้ขวานผ่าฟืนซึ่งต้องใช้ความรุนแรงพอสมควร ซึ่งท่านอาจจะเปรียบไว้กับการพูดจาตรงไปตรงมาจนเกินไป ซึ่งการพูดตรงๆ เห็นอะไรก็พูดไปแบบนั้น บางทีมันเหมือนกับการใช้ปากพูดอย่างเดียว ไม่ได้ใช้สมองตริตรองก่อน ไม่ได้นึกถึงใจผู้ฟัง เป็นการใช้พละกำลังอย่างเดียว ไม่ได้ใช้สติปัญญา
อีกประเด็นก็คือการผ่า “ซาก” ซากในที่นี้ท่านอาจจะหมายถึงซากไม้เก่าๆ ซึ่งไม้เก่านั้น ความผุก็เริ่มมี เพราะฉะนั้นการใช้ขวานจามหรือผ่าไม้ที่ผุๆนั้น ไม่เกิดประโยชน์เพราะเนื้อไม้จะแตกกระจายและนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ เปรียบดั่งการพูดถ้าพูดไปตรงๆ แรงๆ ไม่รักษาน้ำใจกัน คำพูดนั้นก็หาได้มีประโยชน์ไม่ ซ้ำร้ายยังทำให้เกิดความแตกแยกดั่งฟืนผุๆที่แตกกระจายอีกด้วย
แต่ความจริงแล้วคำนี้มีที่มาจากอะไรก็ไม่ทราบแน่ชัดครับ เพราะถ้าว่าโดยพยัญชนะแล้ว ขวาน นี่ก็แปลว่าหมอนชนิดหนึ่งได้เหมือนกัน ส่วน ผ่า นี่แปลว่า การทำให้เจือจางลงก็ได้
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 มักใช้กับคนที่มีลักษณะการพูดจาตรงเกินไป โผงผาง ไม่เกรงใจใคร พูดไม่ดูกาลเทศะ ไม่ใส่ใจว่าคนฟังจะรู้สึกอย่างไร หรือพูดจาตรงๆ ไม่เกรงใจใครเลย
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตขวานผ่าซาก
- สมชายพูดจาขวานผ่าซาก ไม่เกรงใจใคร ทำให้ผู้ใหญ่หลายๆ คนไม่ชอบ
- นี่คุณ อย่าไปใส่ใจคำพูดลุงแกเลย แกเป็นคนพูดขวานผ่าซากแบบนี้แหละ
- นิคมเขาเป็นคนมีจิตใจดี แต่ชอบพูดจาแบบขวานผ่าซาก ตรงไปตรงมา จนทำให้ถูกเข้าใจผิดอยู่บ่อยๆ
- พูดตรงไปตรงมา พูดขวานผ่าซาก กับพูดทุกคำที่คิด ไม่คิดถึงคนอื่นว่าจะคิดยังไง ไม่เหมือนกัน เป็นวจีกรรมที่ให้ผลต่างกัน พูดตรงไปตรงมา คือ พูดแบบไม่อำพราง ไม่หมกเม็ด ไม่อ้อมค้อม
- สุพิศเป็นผู้หญิงห้าวชอบพูดจาแบบขวาผ่าซากกับคนอื่น แบบนี้ผู้ชงผู้ชายคงหนีหมดแน่ๆ