สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ล. ลูบหน้าปะจมูก
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยลูบหน้าปะจมูก
ที่มาของสำนวนนี้ คำว่า ลูบ หมายถึงเอาฝ่ามือทาบลงแล้วเลื่อนไปหรือมา เช่น เขาเอามือลูบแขน พ่อลูบหัวลูกสาวด้วยความปรานี ปะ หมายถึง มาพบกัน มาเผชิญหน้ากัน เช่น หนีเสือปะจระเข้ พอผู้ร้ายหันมาปะหน้าตำรวจก็รีบกระโจนหนีอย่างไม่คิดชีวิต หน้า เป็นอวัยวะในส่วนของศีรษะตั้งแต่หน้าผากลงมาจดคาง ส่วนจมูก เป็นอวัยวะส่วนหนึ่งบนใบหน้า ดังนั้นเมื่อเอามือลูบหน้าลงไปแล้วก็จะถูกจมูกเสมอ
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ ทำอะไรเด็ดขาดจริงจังลงไปไม่ได้ เพราะเกรงว่าจะไปกระทบกระเทือนพวกพ้องของตน จึงนำมาใช้กับพฤติกรรมของผู้มีหน้าที่ต้องลงโทษหรือเอาผิดกับพวกพ้องของตน จึงพยายามที่จะหลีกเลี่ยงหรือให้มีผลกระทบกับพวกพ้องให้น้อยที่สุด
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตลูบหน้าปะจมูก
- นายแดงกับนายเขียวมีเรื่องทะเลาะกัน ทั้งสองจึงไปหากำนันดำ เพื่อให้กำนันตัดสินว่าใครผิดใครถูก ด้วยที่กำนันเป็นญาติกับนายแดง ทั้งๆที่รู้อยู่ว่านายแดงเป็นคนผิด แต่กำนันก็ยังให้นายเขียวขอโทษนายแดงก่อน เหตุการณ์นี้ตรงกับสำนวนไทยที่ว่า ลูบหน้าปะจมูก
- ผู้จัดการบริษัทสั่งให้สอบสวนพนักงานบัญชีของบริษัท โดยไม่เกรงว่าจะลูบหน้าปะจมูก
- ถ้าคุณยังยังเลือกปฏิบัติทำงานแบบลูบหน้าปะจมูก ช่วยเหลือพรรคพวกของตัวเองอยู่แบบนี้คุณก็คงไม่สามารถที่จะปกครองคนหมู่มากได้ ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่มีใครนับถือ
- เพราะคุณพยายามบอกกับทั่วโลกว่า สนามบินของเรานั้นมีมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองว่ามีการบริการที่ถูกต้องตามหลักที่ทั่วโลกกำหนด อีกทั้งเปิดพื้นที่เพื่อสิทธิเสรีภาพของผู้หญิง แต่ในทางปฏิบัติแล้ว คุณไม่สามารถควบคุมให้อยู่ในกฎ กติกา มารยาทที่อวดอ้างอย่างถูกต้อง เหมาะสม นี่แหละ ตัวอย่างของการกระทำที่เรียกว่าลูบหน้าปะจมูก
- ที่เขาไม่จริงจังกับการกวาดล้างยาเสพติด เพราะรู้ว่าญาติพี่น้องของตัวเองมีส่วนเกี่ยวพันด้วย กลัวว่าจะเป็นการลูบหน้าปะจมูก