สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ บ. บวชก่อนเบียด
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยบวชก่อนเบียด
ที่มาของสำนวน มาจากคำสองคำคือ คำว่า “บวช” ซึ่งหมายถึงการบวชเรียนหรือการบวชเป็นพระ อีกคำคือคำว่า “เบียด” หมายถึงการแต่งงานมีคู่ครอง เมื่อครั้งก่อนเก่า คนไทยส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่ทำนาเป็นหลัก หนทางเดียวที่จะได้เรียนหนังสือนั้นก็คือ เข้ารับ “การบวชเรียน” โดยเฉพาะชายหนุ่มที่อายุถึงเกณฑ์ เพื่อให้มีความรู้และได้รับการอบรมทางพุทธศาสนาไปพร้อมกัน หรืออีกนัยหนึ่งก็เพื่อทดแทนบุญคุณบิดามารดา เมื่อถึงเวลาสึกแล้วจะได้ชื่อว่าเป็น “บัณฑิต” หรือที่เราเรียกกันอย่างคุ้นเคยว่า “ทิต” ซึ่งถือว่าเป็นคนเต็มคนหรือคนสุก หมายถึงเป็นชายหนุ่มที่ถูกปรุงแต่งจิตใจมาแล้ว มีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นผู้นำ รวมถึงการเป็นผู้นำครอบครัวนั่นเอง จึงเป็นที่มาของคำว่า “บวชก่อนเบียด”
อย่างไรก็ดี วัตถุประสงค์การบวชมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยตามกาลเวลา หากแต่ยังคงไว้เพื่อฝึกอบรมจิตใจ สมาธิและการใช้เหตุผล ลองบวชด้วยความตั้งใจจริงสักครั้งในชีวิต แล้วคุณจะพบสิ่งล้ำค่าที่หาไม่ได้จากโลกภายนอก
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ การบวชเป็นพระเพื่อทดแทนพระคุณบิดามารดาก่อนจึงค่อยแต่งงานหรือออกเรือน โบราณท่านใช้คำๆ นี้ในการสอนใจชายไทยให้ระลึกไว้เสมอว่าต้องบวชเรียนก่อนถึงค่อยมีคู่ครอง
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตบวชก่อนเบียด
- เจ้านุลูกเราอายุมันถึงบวชแล้วนะพ่อ ยังไงก็ให้บวชเสียก่อนแล้วค่อยเบียด
- โบราณท่านสอนไว้ว่าผู้ชายคนบวชก่อนเบียดเสมอ แต่ยุคสมัยอาจเปลี่ยนไปแล้ว บวชก่อนเบียดอาจไม่มีให้เห็นแล้วในอนาคต
- เห้ยเพื่อน ได้ข่าวว่าแต่แต่งเมียแล้วเหรอ ไหนว่าจะบวชก่อนเบียดยังไงละ
- ถ้าเด็กมันพลาดพลั้งมีลูกกันแล้ว ไม่ต้องบวชก่อนเบียดแล้วล่ะ แต่งงานกันไปให้สิ้นเรื่องสิ้นราวไปเลย
- ผมบอกไปแล้วไงคุณ ว่าผมขอบวชก่อนเบียด บวชทดแทนพระคุณพ่อแม่ก่อน แล้วค่อยคุยเรื่องแต่งงานกันทีหลังไง…