สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ข. ข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า
ที่มาของสำนวน เป็นการเปรียบเปรยถึง เวลาวัวหรือโคไม่สบาย มันมักจะไม่ยอมกินหญ้า แต่ก็บังคับกดหัววัว(การข่มเขา) เพื่อบังคับให้มันกินหญ้า หรือสำนวนนี้พูดได้อีกอย่างหนึ่งว่า “วัวไม่กินหญ้าอย่าข่มเขา”
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ การบังคับขืนใจให้บุคคลอื่นให้กระทำตามในสิ่งที่ตนต้องการ โดยผู้ถูกบังคับนั้นไม่เต็มใจ
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า
- คนที่เป็นแฟนกันหรือสามีภรรยากัน หลายคนจะชอบข่มคู่ของตัวเอง โดยเฉพาะผู้หญิง มักจะบังคับให้อีกฝ่ายทำอะไรตามใจตัวเอง ข่มเขาโคขีนให้กินหญ้า ซึ่งมักจะส่งผลให้เกิดผลเสียตามมา เช่น ผู้ชายเมื่อโดนบังคับมากๆ โดยจัดระบบ จัดระเบียบชีวิตทุกอย่าง สุด ท้ายก็อาจนอกใจบ้าง อยากให้กินหญ้านักใช่ไหม ก็ไปหาหญ้าอ่อนกินนอกบ้านเสียเลย
- ฉันไม่ข่มเขาโคขืนให้กินหญ้าหรอก ฉันอยากได้ลูกสาวเธอมาเป็นสะใภ้ก็จริง แต่ถ้าลูกสาวเธอไม่รักหรือชอบพอ ลูกชายฉันก็คงจะไปบังคับกันไม่ได้
- เด็กชายก้องไม่ชอบเล่นฟุตบอล แต่พ่อของเขาชอบกีฬาชนิดนี้มากจึงบังคับให้เด็กชายก้องเล่นฟุตบอล การกระทำดังกล่าวตรงกับสำนวนไทยที่ว่า ข่มเขาโคขืนให้กินหญ้า
- งานนี้ผมไม่ทำ ผมเป็นผู้ชายนะ อยู่ๆจะให้ผมปลอมตัวเป็นผู้หญิงเข้าไปสอดแนม แบบนี้มันข่มเขาโคขืนให้กินหญ้าชัดๆ เลย
- อย่าข่มเขาโคขืนให้กินหญ้าใครเลย การจะบังคับใจคนมันไม่ได้ผลหรอก ถึงเขาจะทำแต่ทำด้วยความไม่เต็มใจ อย่างที่เขาว่าถ้าคนมันจะรัก ยืนเฉยๆ เขาก็รัก