สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ม. ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้
ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยถึงเวลาเดินป่า เมื่อเจอบ่อน้ำแล้วค่อยตัดกระบอก ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัดกระบอกไว้ก่อน เพราะหากไม่เจอบ่อน้ำแล้วจะเสียแรงเปล่า หรือหากยังไม่เจอกระรอก ก็อย่าเพิ่งโก่งหน้าไม้รอ เพราะจะเสียแรงไปเปล่าๆ
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ การที่เตรียมพร้อมเตรียมตัวล่วงหน้ามากจนเกินไป ทั้งๆ ที่เหตุการณ์นั้นยังมีโอกาสเกิดน้อย หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ ทำให้ต้องเสียเวลาเสียแรงเปล่าโดยไม่จำเป็น
นิยมใช้กับคนที่ชอบทำอะไรก่อนเวลาอันสมควร ทำอะไรรีบร้อนเกินไป ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วรอให้ถึงเวลาที่เหมาะสมเสียก่อนค่อยทำจะดีกว่า โดยโบราณท่านเปรียบเอาไว้เช่นเดียวกับการตัดกระบอกไม้ไผ่เตรียมใส่น้ำทั้งๆ ที่ยังไม่เจอน้ำเลย ทำให้เป็นภาระต้องแบกหิ้วกระบอกนั้นไปด้วยโดยไม่จำเป็น
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้
- ไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้ชัดๆ คุณรีบลาออกจากบริษัทเก่า ทั้งๆที่ยังไม่รู้ว่าบริษัทใหม่จะรับคุณเข้าทำงาน หรือไม่แบบนี้ระวังครอบครัวจะเดือดร้อน
- ไม่ต้องรนรานเหมือนไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้หรอก ใจเย็นๆ ตั้งสติ จะทำอะไรเริ่มจากง่ายๆ ก่อน
- มีคำทำนายจากหมอดูออกมาว่าโลกจะแตก เขาก็กลัวว่าจะไม่มีโอกาสได้ใช้ทรัพย์สมบัติที่หามา เจึงใช้เงินที่มีอยู่ทั้งหมดก่อนโลกจะแตก ทำแบบนี้มันเข้าทำนองไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้ ถ้าหากโลกไม่แตกขึ้นมาเขาจะอยู่อย่างไร
- การเตรียมตัวเหมือนไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโก่งหน้าไม้มันก็ดีไปอีกแบบนะ แต่คุณต้องแลกไปกับการเสียเวลากับพลังงานด้วย ถ้าคิดว่าว่างและไหวก็เอาเลยเต็มที่
- นักลงทุนมือใหม่มักทำตัวแบบไม่เห็นน้ำตัดกระบอก ไม่เห็นกระรอกโรกโก่งหน้าไม้ พอได้ยินข่าวร้ายอะไรหน่อยก็รีบเทขายหุ้น ทั้งๆ ที่ข่าวนั้นอาจจะไม่จริงก็ได้ เป็นแบบนี้บ่อยๆ เจ๊งกันพอดี