สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ด. ดินพอกหางหมู
ความหมายของสุภาษิตดินพอกหางหมู
ที่มาของสำนวน สมัยก่อนคนมักเลี้ยงหมูไว้ทุกครัวเรือน และนิสัยของหมูชอบนอนที่เย็นที่มีปลัก เมื่อมันเล่นปลักโคลนดินก็ติดที่หางมันเรื่อยๆ นานวันเข้าก็กลายเป็นก้อนโตจนหมูแกว่งหางไม่ได้ โบราณจึงอุปมาว่าโคลนที่ติดหางหมูเหมือนกับการทำงานของคน ที่ชอบสะสมทิ้งไว้ไม่ยอมทำ จนมากมาย และในที่สุดก็ทำไม่ทันเกิดโทษต่อตนเอง
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ การทำสิ่งใดก็ตาม ถ้ามัวแต่ผัดวันประกันพรุ่งเพราะความเกียจคร้าน ไม่ทำให้สำเร็จเสียโดยเร็ว ปล่อยให้คั่งค้างทับถมมากเข้า งานก็จะเพิ่มขึ้นทุกที ทำเท่าไหร่ไม่มีเสร็จ สำนวนนี้ใช้ในแง่ไม่ดี
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตดินพอกหางหมู
- หมูปวกเปียกขี้เกียจปัดปลดปล่อย ดินจากน้อยค่อยมากหนักนักหนา นอนเกลือกกลิ้งคลุกโคลนคร่ำค้างคา จนกายาลุกไม่ขึ้นค่อยคลี่คลาย เปรียบดั่งคนการงานไม่ยอมทำ เผ้าตรากตรำเมื่อจวนเจียนเวลาหมาย หากยังทำเช่นนี้ต้องเหนื่อยกาย สิ้นสบายเพราะดินพอกหางหมู
- ถ้าอยากเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เมื่อผู้บังคับบัญชามอบหมายงานใดๆ ให้มา ก็ต้องรับผิดชอบ รีบดำเนินการให้เสร็จ อย่าปล่อยไว้เป็น ดินพอกหางหมู กลายเป็นคนทำงานไม่เสร็จ ไม่มีผลงาน ก็ยากจะได้รับการเลื่อนตำแหน่ง
- แม่บอกลูกชายให้รีบทำการบ้านที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จวันต่อวัน อย่าปล่อยไว้ให้เป็น ดินพอกหางหมู เพราะเมื่อถึงเวลาที่จะต้องส่งงาน จะทำไม่ทัน และโดนครูลงโทษ
- ผมบอกคุณแล้วงานที่คุณทำควรให้มันจบที่ทำงาน ไม่ใช่เวลางานทำไม่เต็มที่ มัวแต่เล่นโซเชียลมีเดีย แล้วเป็นไง เอางานกลับมาทำที่บ้านตลอด เวลานอนก็น้อย สุดท้ายก็มาบ่นให้ผม
- ก่ารสร้างนิสัยไม่ดีในการทำงาน ปล่อยให้งานคั่งค้าง กลายเป็น ดินพอกหางหมู ไม่ใช่เรื่องดี เพราะในอนาคตจะส่งผลเสียต่อการทำงาน และความก้าวหน้าในอาชีพ