สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ อ. เอาหูไปนา เอาตาไปไร่
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยเอาหูไปนา เอาตาไปไร่
ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยถึงการที่บุคคลเอาหูไปนาที่หนึ่ง และเอาตาไปที่ไร่ที่หนึ่ง ทำให้ร่างกายของบุคคลนั้นไม่สามารถรับรู้เรื่องราวอะไรได้ เพราะไม่มีหูไม่มีตาแล้ว ดังนั้นจึงใช้เปรียบเทียบกับคนที่ทำเป็นไม่สนใจในเรื่องที่เกิดขึ้น
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ แสร้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ไม่รับรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่สนใจ เพื่อให้เรื่องหรือเหตุการณ์นั้นๆ ผ่านลุล่วงไป
สำนวนนี้มักจะใช้เปรียบเทียบถึงบุคคลที่มีหน้าที่ต้องรับรู้ ต้องตัดสินใจในสิ่งที่เกิดขึ้นหรือเป็นอยู่ แต่เขาก็แกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเสีย
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตเอาหูไปนา เอาตาไปไร่
- ในบางครั้งคนเราก็ต้องรู้จักเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เสียบ้าง มันอาจจะทำให้เราสบายใจขึ้น
- นายสมบัติ รู้ว่านายเอและนายบีไม่ค่อยจะลงรอยกันนัก แต่นายบีเป็นญาติของเขา ดังนั้นเมื่อนายบีแกล้งหรือทำร้ายนายเอ เขาก็แกล้งเอาหูไปนาเอาตาไปไร่เสีย ไม่รีบเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
- ก็เพราะหน่วยงานรัฐส่วนใหญ่ เอาหูไปนา เอาตาไปไร่ แบบนี้ถึงมีคนโกงกินอยู่ทุกวัน ถ้าเอาจริงเมื่อไหร่ประเทศเจริญขึ้นเยอะ แต่ก็ยากเพราะผลประโยชน์มันเยอะ
- นายสมชายเป็นพ่อหม้ายลูกติด ซึ่งได้มาแต่งงานใหม่กับนางพรพรรณ เขารู้ว่าพรพรรณไม่ค่อยชอบลูกสาวของเขานัก ดังนั้นเมื่อลูกสาวทำอะไรผิดเล็กๆ น้อยๆ เขาก็แสร้งเอาหูไปนา เอาตาไปไร่เสีย เพื่อมิให้ภรรยาใหม่เกรี้ยวกราดหรือโมโหลูกสาวของตน
- คนบางคนเราต้องทำเหมือนเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ เพราะไม่ว่าจะอยากให้เขาดีขึ้นขนาดไหน แต่ตัวเขาไม่พยามเพื่อตัวเอง ก็ไร้ประโยชน์ ไม่พูด เฉยๆ ไปเสียดีกว่า เปลืองพลังงานเรา