สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ น. น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยน้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง
ที่มาของสำนวนคือ เมื่อถึงฤดูฝนมีฝนตกลงมามากทำให้น้ำขังในทุ่งนาเจิ่งนองไปทั่ว พืชน้ำต่างๆ รวมทั้งผักบุ้งขยายพันธุ์ได้ง่าย และเจริญเติบโตได้ดี ชาวบ้านจึงเก็บผักต่างๆ รวมทั้งผักบุ้งมาประกอบอาหาร แต่พอถึงช่วงปลายฤดูฝนต่อฤดูหนาวที่เรียกกันว่า ปลายฝนต้นหนาว บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางของไทย จะมีน้ำหลากจากภาคเหนือมาท่วมทุ่งนาเป็นปกติทุกปี น้ำจะท่วมอยู่นานประมาณ 3 – 4 เดือน แล้วก็จะค่อยๆ แห้งลงไป เป็นช่วงที่เรียกว่า น้ำท่วมทุ่ง พืชน้ำและผักบุ้งจะดูบางตาลง เนื่องจากถูกน้ำที่หลากลงมาท่วมตายเสียบ้าง หรือพัดพาไปบ้าง เป็นที่มาของสำนวนว่า “น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง”
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ พูดมาก แต่ได้เนื้อหาสาระน้อย ใช้ในการเปรียบเปรยกับคนที่พูดแล้วคนฟังไม่สามารถจับใจความสำคัญหรือเนื้อหาสาระอะไรได้ พูดวกไปวนมาจนไม่รู้ว่าส่วนใดเป็นใจความหลักใจความรอง เป็นการพูดสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพ แสดงได้ถึงความรู้ความสามารถของผู้พูดว่าไม่ได้มีความรู้ในเรื่องนั้นจริง เป็นปัญหาในการสื่อสารกับผู้ฟังซึ่งทำให้เสียเวลาเปล่าทั้งผู้พูดและผู้ฟัง ดังนั้นก่อนที่จะสื่อสารกับผู้ฟังควรเตรียมข้อมูลในเรื่องที่จะพูดให้กระชับ ตรงประเด็น สามารถที่จะสื่อสารให้ผู้ฟังเข้าใจเนื้อหาที่พูดได้
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตน้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง
- เมื่อครั้งเป็นเด็ก นํ้าท่วมทุ่งใน เดือน 11 เดือน 12 ปีละครั้ง นํ้าท่วม มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่นํ้าฝน นํ้าท่วมมากขนาดที่เรียกว่า “นาล่ม” มีไม่บ่อยนัก ที่พูดกันว่า “น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง” นั้นแสดงว่าท่วมมาก จนผักบุ้งที่เป็นพืชน้ำก็ไม่เหลือ เขาเอาไปเปรียบกับคนพูดมากไร้สาระ นํ้าท่วมทุ่ง ปี พ.ศ. 2485 นั้น ท่วมมากก็จริง แต่พืชผักยังพอหากินได้ อย่างไรก็ตาม นํ้าท่วมทุ่งในสมัยก่อน คนยังไปเที่ยว ทุ่งกันอย่างสนุกสนาน ผิดกับปัจจุบันที่คนไม่อยากเที่ยวทุ่ง เพราะนํ้าในทุ่งเป็นนํ้าเน่า ต่อไปในอนาคต คนจะไม่รู้ว่า นํ้าท่วมทุ่งตามธรรมชาติเป็นอย่างไร นํ้าที่ใสตามธรรมชาติเป็นอย่างไร เพราะไม่มีธรรมชาติหลงเหลืออยู่ ธรรมชาติถูกทำลายไปจนหมดสิ้น
- ฉันฟังเธอพูดเป็นน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรงมานานแล้ว เมื่อไหร่จะเข้าเรื่องได้ซักที
- คำรบเป็นคนพูดมาก ทุกครั้งที่คุณครูให้เขาออกไปพูดหน้าห้องเรียน คำรบมักพูดแบบน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรงโดยที่ตามความเป็นจริงแล้วใจความสำคัญของเรื่องมีแค่นิดเดียว แต่เขากลับพูดเป็นครึ่งชั่วโมง
- ไปนั่งฟังเขาบรรยายอยู่ 2 ชั่วโมง แต่ไม่ค่อยได้เนื้อหาสาระ พูดเป็นน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง จนผู้เข้าฟังบรรยายหลายๆคน ต้องทยอยเดินออกจากห้อง
- คนบางคนเป็นคนพูดแบบน้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรงจริงๆ หาสาระและใจความไม่ได้เลย เปลืองสมองสุดๆ