สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ช. ชุบมือเปิบ
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยชุบมือเปิบ
ที่มาของสำนวนนี้คือ มาจากวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของคนไทยสมัยก่อนที่ใช้มือในการรับประทานอาหารก่อนจะมีช้อน ส้อม เรียกว่า “เปิบ” มีความหมายว่า ใช้ปลายนิ้วหยิบข้าวเข้าปากตนเอง ก่อนเปิบข้าว ต้องเอามือชุบน้ำให้เปียก เป็นการทำให้มือสะอาดก่อนหยิบข้าว และเพื่อไม่ให้ข้าวติดมือเวลาเปิบข้าวเข้าปากด้วย คนที่พอมาถึงก็ลงนั่งชุบมือเปิบข้าวกิน โดยไม่ยอมมีส่วนในการหาอาหาร ประกอบอาหาร หรือตั้งสำรับอาหาร เป็นคนที่เอาเปรียบคนอื่นนั่นเอง
ชุบมือเปิบมาจากวัฒนธรรมการเปิบข้าว
“เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน”
สรุปความหมายของสำนวนนี้ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ ใช้หรือตำหนิคนที่ฉวยโอกาสเอาประโยชน์หรือผลสำเร็จที่คนอื่นทำไว้มาเป็นของตน หรือขอมีส่วนร่วมในผลสำเร็จนั้นโดยที่ตนไม่ได้ช่วยลงแรงด้วย เพราะไม่ได้ช่วยหรือมีส่วนในการประกอบอาหารเพื่อรับประทาน เพียงเเต่ชุบมือเเล้วเปิบข้าวรับประทานทันที ซึ่งเป็นการเอาเปรียบผู้อื่นนั่นเอง
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตชุบมือเปิบ
- โครงการนี้ที่จริงเราก็ช่วยกันคิด อยู่ ๆ เขาก็ชุบมือเปิบเอาไปเสนอหัวหน้าว่าเป็นความคิดของเขา
- ผมตั้งใจกับงานนี้มาก ลงมือทำเองทุกอย่างแต่สุดท้าย แต่สุดท้ายเขาก็มาชุบมือเปิบ เอาไปเป็นผลงานของตัวเองหน้าตาเฉย
- รายงานชิ้นนี้เราสองคนช่วยกันทำ พอทำเสร็จเขาก็จะมาขอลงชื่อว่าได้ร่วมทำงานด้วย อย่างนี้เรียกว่า ชุบมือเปิบ
- สิ่งใดก็ตามที่เป็นเงินเป็นทอง หรือมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ย่อมจะต้องมีคนเข้ามา ชุบมือเปิบ แสวงหาผลประโยชน์ด้วยเช่น กัน จึงต้องระวังหาทางป้องกันให้ดี
- ณัฐกับโอเล่สนิทกันทำธุรกิจด้วยกัน จนเติบโต อยู่มาวันหนึ่งสมชายมาขอร่วมธุรกิจกับณัฐ ที่สร้างมากับโอเล่สองคน ณัฐเห็นว่าสมชายเป็นคนสนิทจึงไม่อาจปฏิเสธได้ แบบนี้สมชายนี่มาชุบมือเปิปชัดๆ