สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ห. หนามยอกเอาหนามบ่ง
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยหนามยอกเอาหนามบ่ง
ที่มาของสำนวน หนาม คือ ส่วนแหลมๆ ที่งอกออกจากต้นหรือกิ่งของต้นไม้บางชนิด เช่น หนามพุทรา หนามกุหลาบ ยอก หมายถึง ฝังอยู่ในเนื้อ หรือรู้สึกเจ็บแปลบคล้ายมีอะไรมาเสียดแทงอยู่. หนามยอก ในที่นี้หมายถึง หนามฝังอยู่ในเนื้อ ทำให้เจ็บแปลบ โดยทั่วไป เมื่อถูกหนามตำ เราจะใช้ของแหลมๆ เช่นเข็ม แทงที่เนื้อเพื่อสะกิดและเขี่ยเอาหนามออกมา อาการนี้เรียกว่า บ่งหนาม
ในสมัยโบราณเข็มที่สะอาดๆหายาก คนโบราณจึงนิยมใช้หนามที่มีขนาดพอเหมาะพอดีมาล้างให้สะอาด หรือ ลนไฟ แล้วใช้บ่งหนามที่ทิ่มตำเรา เพื่อนำมันออกมาจากเนื้อของเรา
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ การตอบโต้ด้วยวิธีการทำนองเดียวกัน หรือการตอบโต้ฝ่ายที่ตรงข้ามเรา ด้วยวิธีการเดียวกันกับที่เขาทำกับเรา
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตหนามยอกเอาหนามบ่ง
- หนามยอกเอาหนามบ่ง! เมื่อ Twitter ต่อกรกับข่าวปลอมด้วย AI ที่สร้างข่าวปลอม
- กลยุทธ์หนามยอกเอาหนามบ่ง ใช้ไวรัสเอดส์พิการมาต้านเอดส์/ทะลุกรอบ
- น้องสาวฉันกินข้าวเสร็จเป็นต้องทิ้งถ้วยชามไว้ ไม่ยอมล้างเองสักที คุณแม่เลยดัดนิสัยแบบหนามยอกเอาหนามบ่ง พอถึงเวลาอาหารก็เหลือแต่จานที่ยังไม่ได้ล้างไว้ให้ เขาจึงต้องไปล้างจานเอง
- หนามยอกเอาหนามบ่ง ชาวบางน้ำผึ้งเอาขยะมาทำทุ่นกักขยะ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่น่าชื่นชมจริงๆ
- หนามยอกเอาหนามบ่ง เคยได้ยินไหมยุทธการใช้โจรปราบโจร ใช้น้ำกั้นน้ำ ใช้ยุงลดปริมาณยุง