สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ก. กระต่ายขาเดียว / กระต่ายสามขา
ความหมายสุภาษิตคำพังเพยกระต่ายขาเดียว
กระต่ายขาเดียว สำนวนคุ้นๆ ที่กระต่ายขาเดียว แท้จริงแล้วสำนวนสุภาษิตกระต่ายขาเดียวนี้จริงๆ แล้วมันชื่อ “กระต่ายสามขา” ต่างหาก… ส่วนเหตุผลว่าทำไมคือ
ที่มาของสำนวน เรื่องของเรื่องก็คือ สำนวนนี้มีที่มาจากนิทานเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องของเด็กวัดที่วันหนึ่งอยากเอาใจหลวงพ่อขึ้นมา จึงทำเนื้อกระต่ายย่างเพื่อจะไปถวายท่าน แต่ขณะที่ย่างนั้นเนื้อกระต่ายหอมยั่วยวนใจมากจนอดใจไม่ไหว เขาจึงแอบฉีกขากระต่ายออกมากินเองไปหนึ่งข้างซะงั้น!
เมื่อนำกระต่ายไปประเคนให้หลวงพ่อ หลวงพ่อเห็นขากระต่ายข้างหนึ่งหายไป จึงถามเขาว่ามีใครมาแอบกินไปก่อนหรือเปล่า เด็กวัดยืนยันหัวชนฝาว่าไม่มี เพราะกระต่ายตัวนี้มีสามขามาตั้งแต่แรกแล้ว ไม่ว่าหลวงพ่อจะถามกี่ครั้งเขาก็ยังตอบเช่นเดิม ว่ากระต่ายมีสามขาจริงๆไม่มีใครเอาอีกขาหนึ่งไปทั้งนั้นน… จึงเป็นที่มาของสำนวนที่ว่า “ยืน(ยัน)กระต่ายสามขา” ในที่สุด
ส่วนเหตุผลที่มักมีคนจำสลับกับ “ยืนกระต่ายขาเดียว” นั้น เนื่องจากมีการละเล่นไล่จับของเด็กไทยอย่างหนึ่ง ที่ผู้ไล่จะถูกเรียกว่า “กระต่าย” และจะต้องกระโดดด้วยขาเพียงข้างเดียวเพื่อไล่จับผู้เล่นอีกฝ่าย ถ้าใครถูกจับได้ก็จะต้องกลายเป็นกระต่ายแทน ด้วยท่ายืนที่ไม่มั่นคง โงนเงนไปมาของกระต่ายขาเดียว จึงทำให้คนนำไปใช้ในความหมายว่า “ยืนยันด้วยข้อมูลที่ไม่แน่นอน” แทน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีสำนวน “ยืนกระต่ายขาเดียว” แต่อย่างใด
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ บุคคลยืนกรานความคิดตนเอง ไม่ยอมรับผิด ฉันไม่ได้ทำ ฉันเปล่านะ ยืนยันแบบข้างๆ คูๆ และไม่เปลี่ยนความคิด เช่น มีเหตุการณ์ไม่ชอบมาพากล ซึ่งใครๆ ก็เข้าใจอย่างหนึ่งเหมือนกันหมด แต่มีคนคนหนึ่งที่ยืนกรานหนักแน่นว่าไม่ได้เป็นอย่างที่คนอื่นคิดแน่นอน
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตกระต่ายขาเดียว
- ธนายืนยันว่าตนไม่ได้ทำอะไรผิด ยังทำตัวเป็นกระต่ายขาเดียวอยู่ ทั้งๆ ที่ทุกคนก็เห็นตำตา
- สมพงษ์ยึดความคิดของตนเองเป็นหลัก ทั้งๆ ที่ทุกคนต่างเห็นพ้องต้องกันว่าของสมศรีดีกว่า จากเหตุการณ์นี้สอนให้รู้ว่าสมพงษ์ทำตัวแบบกระต่ายขาเดียว
- ถ้ายังทำตัวเป็นกระต่ายสามขาอยู่แบบนี้ระวังจะไม่มีชอบ ไม่มีใครคบ
- บางครั้งคนเราก็ต้องยอมรับในสิ่งที่ตัวเองทำบ้าง ในเมื่อสังคมมีกติกา เราก็ควรเคารพกติกา ไม่ใช่ยังมาเป็นกระต่ายขาเดียวแบบนี้
- กระต่ายสามขาเปรียบเสมือนบุคคลที่ไม่ยอมรับคนอื่น และก็ไม่ยอมรับตนเองด้วยเช่นกัน