สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ พ. พกหินดีกว่าพกนุ่น
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยพกหินดีกว่าพกนุ่น
ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยถึงหินเป็นของหนัก ยากที่ลมจะพัดให้โยกหรือลอยขึ้นลงได้ ส่วนนุ่นเป็นของเบายามถูกลมกระพือพัด ก็ย่อมลอยไปตามลมอย่างง่ายดาย แม้ตกลงพื้นล่างแล้ว ครั้นลมแรงก็กลับลอยขึ้นสู่เบื้องบนได้อีก จะหยุดนิ่งไม่ต้องหมุนขึ้นลงตามกระแสลมอย่างหินไม่ได้
แง่คิดทางธรรมจะเห็นได้ว่า คนใจหนักแน่นมีลักษณะคล้ายพกหิน หรือเป็นเหมือนหิน คือ ควบคุมใจของตนให้เป็นปกติคงที่อยู่ได้ตลอดเวลา ในเมื่อต้องประสบอารมณ์อันชอบหรือชัง ก็สะกดใจเอาไว้ได้ ไม่เคลิบเคลิ้มหลงใหลหรือแสดงความวุ่นวายออกมาให้ปรากฏ เรียกว่าไม่แสดงอาการขึ้นๆ ลงๆ ส่อให้เห็นคุณลักษณะแห่งความเป็นบัณฑิตอย่างชัดเจน ทั้งเป็นคนมีเหตุผลไม่คล้อยตามลมปากของคนอื่นง่ายๆ
ส่วนคนใจไม่หนักแน่น มีลักษณะคล้ายนุ่น หรือพกนุ่น จะแสดงธาตุแท้ของตนให้คนอื่นเห็นง่ายๆ โดยเมื่อประสบกับอารมณ์ที่ชอบหรือชัง ก็แสดงอาการลิงโลดและซบเซาจนเห็นอย่างถนัด ไม่มีสติควบคุมตนเอง ตลอดจนเคลิ้มตามลมปากผู้อื่นอย่างง่ายดาย ซึ่งเป็นลักษณะของพาลชนคือ คนเขลาอย่างแท้จริง
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ ควรมีจิตใจที่เข้มแข็งหนักแน่น ดีกว่าเป็นคนจิตใจโลเลหูเบาเคลิบเคลิ้มไปกับคำพูดของผู้อื่นง่ายๆ
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตพกหินดีกว่าพกนุ่น
- เพราะนายเป็นคนใจคอหนักแน่นแหละเราถึงได้คบหากันมาถึงทุกวันนี้ เหมือนโบราณว่าพกหินดีกว่าพกนุ่น
- คุณมีตำแหน่งเป็นถึงหัวหน้างานมีลูกน้องในปกครองเป็นสิบคน คุณควรจะคิดพิจารณาไตร่ตรองเหตุผลให้ดีก่อนที่จะลงโทษใคร พกหินดีกว่าพกนุ่นอย่าหูเบาเชื่อคนง่ายนักเลย
- คุณควรจะเชื่อใจเมียตัวเองให้มากกว่าคำพูดของคนอื่นนะ เหมือนที่เขาว่าพกหินดีกว่าพกนุ่น
- เธอเป็นพี่น้องกันต้องรู้จักนิสัยใจคอกันเป็นอย่างดี พกหินดีกว่าพกนุ่นอย่าใจเบาหลงเชื่อคำพูดของคนภายนอก
- การทำธุรกิจจงทำจิตให้ให้เข็มแข็งหนักแน่น ดีกว่าหูเบาเชื่อคำคนอื่นโดยไม่ตรึกตรองก่อน จงมีความเชื่อในศรัทธา และจุดยืนของตนเอง และกล้าลงมืออย่างกล้าหาญ