สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ป. เป็นปี่เป็นขลุ่ย
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยเป็นปี่เป็นขลุ่ย
ที่มาของสำนวน มาจากการบรรเลงดนตรีไทย ในวงปี่พาทย์ไม้แข็ง มีปี่เป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่าเพื่อดำเนินทำนองโหยหวนโลดลอย ในขณะเดียวกันก็ต้องกลมกลืนกับทำนองของเครื่องตีได้แก่ระนาดและฆ้อง ส่วนขลุ่ยก็เป็นเครื่องเป่าเพื่อดำเนินทำนองเช่นเดียวกับปี่ แต่เป็นเครื่องดนตรีประจำวงคนละประเภท จึงไม่ใช้เป่าด้วยกัน สำนวนนี้มักนิยมพูดว่า “เข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ย”
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ เข้ากันได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กลมเกลียวไปด้วยกัน พูดจาเออออรับกันไปได้อย่างต่อเนื่อง
นิยมนำมาใชืเปรียบเทียบในลักษณะประชดกับคนที่ไม่น่าจะเข้ากันได้แต่กลับเข้ากันได้เป็นอย่างดี
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตเป็นปี่เป็นขลุ่ย
- ตั้งแต่ว่าที่ลูกเขยขยันแวะมาเยี่ยมเยียน ทานอาหารที่บ้าน คุณแม่กับว่าที่ลูกเขยก็เข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ยเชียวหล่ะ
- เด็กสองคนนี้ปกติก็เถียงกัน พอบอกว่าจะไปเที่ยวก็เข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ยเลย
- คนส่วนใหญ่มักจะมีเพื่อนสนิท เพื่อนรัก เพื่อนโปรด ที่มีนิสัยคล้ายกัน เหมือนกัน และรักกันมาก ทำให้เข้าใจกันดี เข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ยเวลาคุยเรื่องที่มีความสนใจตรงกัน หรือชอบในเรื่องนั้นๆ เหมือนกัน
- นายสมชายเป็นคนชอบพูดเล่นมุข ส่วนนายสมหมายก็ตอบรับมุขของนายสมชายได้เป็นอย่างดี เพื่อนๆ จึงชอบพูดว่าสองคนนี้เข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ยเลยนะ
- แมนกับแพมเป็นแฟนที่ดูเหมือนจะไม่เข้ากันเลย แต่ทั้งคู่กลับเข้ากันได้ดีเป็นปี่เป็นขลุ่ย รักกันดี ทำแต่สิ่งดีๆ ด้วยกันตลอด นี่แหละน้า คนเราตัดสินกันภายนอกไม่ได้จริงๆ