สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ จ. ใจดีสู้เสือ
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยใจดีสู้เสือ
ที่มาของสำนวน สำนวนนี้มักจะใช้พูดเพื่อแนะนำ ให้ให้กำลังใจ เมื่อจะต้องพบกับสิ่งที่อันตราย อุปสรรคหรือปัญหาที่ทำให้ชีวิตเกิดความทุกข์ยากลำบาก หรืออาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หากเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องทำใจให้กล้าหาญ เพื่อเผชิญหน้ากับอันตราย คำว่า “เสือ” ในสำนวนนี้หมายถึงคนที่ตนเกรงกลัว ซึ่งโดยปกติแล้ว สัตว์ต่างๆน้อยใหญ่ต่างก็เกรงกลัวเสือไม่กล้าเผชิญหน้ากับเสือ (แต่ในสำนวนนี้ต้องจำใจเผชิญหน้ากับสิ่งที่ตนเกรงกลัว)
สรุปความหมายของสำนวนนี้ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ การทำใจกล้า ควบคุมจิตใจให้เป็นปกติ ไม่หวั่นไหวไปกับเหตุการณ์ตรงหน้า เมื่อต้องเจอกับสิ่งที่น่ากลัวหรือเป็นอันตราย โบราณท่านนิยมใช้อธิบายเมื่อเราเจอเหตุการณ์ที่น่ากลัวหรือมีอันตราย แต่ก็บังคับใจตัวเองให้สู้ ไม่ให้กลัวจนไม่กล้าทำอะไร
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตใจดีสู้เสือ
- ผมเป็นคนกลัวความสูงแต่ทำใจดีสู้เสือ เมื่อจะต้องกระโดดหอสูง 34 ฟุต พยายามข่มใจว่าจะต้องผ่านไปให้ได้ เพราะกลัวเพื่อนๆ จะล้อเลียน
- เด็กชายดำถูกอาจารย์ฝ่ายปกครองเรียกให้ไปพบเพราะเขามาโรงเรียนสายหลายครั้งแล้ว ทั้งๆที่เด็กชายดำกลัวอาจารย์ฝ่ายปกครองมาก แต่ก็ต้องทำใจดีสู้เสือ ไปพบอาจารย์
- ตอนไปเจอว่าที่พ่อตา แกทำหน้าดุมากจนผมกลัวแทบตาย แต่ก็ยิ้มตลอดทำใจดีสู้เสือไว้ก่อน
- เจ้าของบ้านทำใจดีสู้เสือ เผชิญหน้าโจรที่มาขโมยของในบ้าน แล้วหาจังหวะเอาตัวรอดมาได้อย่างปลอดภัย
- การต้องเดินทางออกจากบ้านเพื่อไปเรียนในกรุงเทพ ทำให้เขาต้องทำใจดีสู้เสีอ ต้องกล้าเผชิญกับความลำบากที่รออยู่ เพราะตั้งแต่ เกิดมาก็ไม่เคยออกไปไหนไกลบ้านเลย