สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ค. คนล้มอย่าข้าม ไม้ล้มจึงข้าม
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยคนล้มอย่าข้าม ไม้ล้มจึงข้าม
ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยถึงคนที่ล้มหากเดินข้ามเขา เขาอาจลุกขึ้นมาชนกันได้ แต่ถ้าเป็นไม้ล้มมันจะไม่สามารถลุกขึ้นมาได้เองในขณะที่เราข้าม ดังจึงปลอดภัยกว่า
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ คนที่เคยมีอำนาจและวาสนามาก่อน แต่ต้องตกต่ำลงก็อย่าเพิ่งไปคิดดูถูกเหยียบย่ำเข้า เพราะเขาอาจกลับฟื้นฟูขึ้นอีกได้ ไม่เหมือนไม้ที่ไม่มีชีวิตวางทิ้งไว้จะข้ามจะเหยียบอย่างไรก็ได้
โบราณท่านใช้สอนคนให้เห็นใจคนที่ทำอะไรผิดพลาด คนที่ทำอะไรแล้วล้มเหลว หรือกำลังประสบปัญหาชีวิต ถึงแม้จะช่วยเหลืออะไรเขาไม่ได้ ก็ไม่ควรซ้ำเติมให้เขาแย่ลงกว่าเดิม หรือพูดจาดูถูกให้เขาหมดกำลังใจที่จะลุกขึ้นมาใหม่
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตคนล้มอย่าข้าม ไม้ล้มจึงข้าม
- ดูไว้นะลูก นี่คือตัวอย่างของคนที่เคยร่ำรวย แต่ต้องยากจนเพราะทำธุรกิจล้มเหลว แต่เชื่อว่าวันหนึ่งข้างหน้าเขาคงจะกลับมาร่ำรวยได้ ดังนั้นเราอย่าไปดูถูกเขานะ โบราณท่านว่าไว้คนล้มอย่าข้าม
- แม้ว่าคุณสมหมายอดีตเซียนหุ้นพันล้าน ซึ่งตอนนี้เขาหมดตัวมีหนีสินมากมาย ก็อย่าไปดูถูกเขา เพราะสักวันเขาอาจจะลุกขึ้นได้ใหม่กลับมาเป็นเซียนหุ้นอีกครั้ง ดังสำนวนสุภาษิตไทยที่ว่า คนล้มอย่าข้าม ไม้ล้มจึงข้าม
- สมชายเคยรวยล้นฟ้า แต่ก็มาพลาดเพราะความประมาท จนทรัพย์สินหายหมด แค่เงินค่าข้าวยังจะไม่มี แต่ผมก็ให้ความช่วยเหลือแกนะ ยามมีแกก็เคยช่วยเหลือผม ผมเชื่อเสมอว่าคนล้มอย่าข้าม เพราะคนเราล้มได้ก็ต้องลุกขึ้นได้
- โคลงสินธร คนล้มอย่าข้าม ไม้ล้มจึงข้าม “คนใดหากลื่นแล้ว แถไถ ล้มดิ่งร่วงลงไป กับพื้น อย่าคิดก้าวข้ามไป เลยพี่ ข้ามเสร็จลุกตื่นฟื้น จดไว้ในใจ ไม้ใดหากรากแก้ว ตายไป ล้มร่วงขวางทางใด ปล่อยไว้ จึงก้าวล่วงเลยไป ดูก่อน ข้ามผ่านสบายใจได้ ไม่ต้องเกรงใจ หากเห็นใครที่พลั้ง พลาดไป เฉกเช่นสุภาษิตไทย กล่าวอ้าง โปรดเถิดอย่าเอ่ยไป ถมทับ ถึงที่ตัวเราบ้าง จักรู้ดีเอง”
- เพื่อนกันน่ะ เขาไม่คอยซ้ำเติมเพื่อนยามตกยากหรอก คนล้มอย่าข้าม ถ้าใครข้ามแสดงว่าเป็นเพื่อนไม่จริงใจ