สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ศ. ศรศิลป์ไม่กินกัน
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยศรศิลป์ไม่กินกัน
ที่มาของสำนวน ในที่นี้ ศิลป์ หมายถึง คันธนู ส่วน ศร คือ ลูกธนู ศรศิลป์ไม่กินกัน หมายความว่า ลูกธนูที่แต่ละฝ่ายยิงใส่กันนั้นไม่สามารถทำอันตรายกันได้ ข้อความนี้ปรากฏในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ตอนที่พระรามต่อสู้กับพระมงกุฎซึ่งเป็นลูก โดยที่ไม่รู้ว่าเป็นพ่อลูกกัน พระรามแผลงศรเพื่อสังหารพระมงกุฎ แต่ศรนั้นกลับกลายเป็นอาหารทิพย์ตกลงหน้าพระมงกุฎ และเมื่อพระมงกุฎแผลงศรไปยังพระราม ศรก็กลายเป็นข้าวตอกดอกไม้แสดงความเคารพพระราม
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ แต่เดิมจึงหมายความว่าทำร้ายกันไม่ได้ แต่ต่อมากลายความหมายไป หมายถึงการที่คนสองฝ่ายไม่ถูกกันไม่ลงรอยกัน
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตศรศิลป์ไม่กินกัน
- นักมวยฝ่ายแดงกับฝ่ายน้ำเงินมาจากค่ายมวยเดียวกัน แต่ทั้งสองได้ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ ทำให้ทั้งสองต้องชกกัน นักมวยทั้งสองสู้กันสูสีมาก ไม่มีใครล้มใครได้ ศรศิลป์ไม่กินกัน เพราะฝึกซ้อมมาเหมือนๆ กัน รู้ทางกัน
- เพราะเหตุการณ์บ้านเมืองของเราในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมานี้ มีความร้อนแรงที่จะเผชิญหน้ากันหลายต่อหลายครั้ง ด้วยสำนวน “ศรศิลป์ไม่กินกัน” ซึ่งเป็นสำนวนไทยแท้แต่โบราณ ซึ่งสมัยหนึ่งมีความหมายอย่างหนึ่ง แต่สมัยนี้มีความหมายอีกอย่างหนึ่ง
- ศรศิลป์ไม่กินกันจริงๆ เขาสองคนเคยต่อสู้กันมาหลายครั้งแต่ก็ไม่มีครั้งได้ที่จะรู้ผลแพ้ชนะเลย
- ฝาแฝดคู่นี้ศรศิลป์ไม่กินกัน เจอหน้ากันทีไรจะต้องทะเลาะกันเสียทุกครั้ง
- เขาทั้งสองคนเคยเป็นศิษย์สำนักเดียว มีครูคนเดียวกัน มีเพลงดาบที่เยี่ยมยอดทั้งคู่ต่างก็รู้ทางกันอยู่แล้วทำให้ไม่มีใครสามารถเอาชนะอีกฝ่ายได้ อย่างที่เขาว่าศรศิลป์ไม่กินกัน