สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ข. ขมิ้นกับปูน
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยขมิ้นกับปูน
ที่มาของสำนวน ในสมัยก่อนคนไทยนิยมกินหมาก วิธีการกินหมากนั้นคือใช้ปูนแดงบ้ายบนใบพลู ม้วนจีบเป็นรูปยาวๆ แล้วเคี้ยวกับหมาก อาจเคี้ยวยาจืดหรือยาฉุนและเครื่องหอมอื่น ๆ เช่น กานพลู พิมเสน ร่วมไปด้วย เมื่อเคี้ยวแล้วจะมีน้ำลายออกมาปนกับหมากพลูเป็นน้ำหมากสีแดงซึ่งผู้กินหมากจะบ้วนทิ้ง ปูนแดงนี้ทำจากหินปูนหรือเปลือกหอยเผาให้ไหม้เป็นผง มีสีขาว เมื่อนำปูนขาวนี้มาผสมกับน้ำขมิ้นซึ่งมีสีเหลือง จะเกิดปฏิกิริยาทำให้ปูนเปลี่ยนสีเป็นสีแดงทันที ขมิ้นกับปูนที่มีปฏิกิริยากันเช่นนี้ คนโบราณถือว่าเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน จึงนำมาเปรียบกับคนที่ไม่ถูกกัน มักวิวาทกัน
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คือ คนที่ชอบทะเลาะกันเมื่ออยู่ใกล้กัน, ไม่ถูกกัน, เข้ากันไม่ได้
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตขมิ้นกับปูน
- นี่เราแต่งงานกันมาได้ยังไงนี่ คู่เราอย่างกับขมิ้นกับปูน อยู่ด้วยกันทีไรต้องเถียงกันตลอด เฮ้อ! เหนื่อยใจ
- พี่น้องสองคนนี้อย่างกับขมิ้นกับปูน เข้าใกล้กันทีไรเป็นต้องทะเลาะกันทุกที
- สมชายกับสมหมายอยู่ในหมู่บ้านเดียว เจอหน้ากันทีไรต้องมีเรื่องกันทุกที เหมือนขมิ้นกับปูนเลย
- ฉันเหนื่อยที่ต้องมาทำงานกับคนที่ไม่ชอบจริงๆ เหมือนขมิ้นกับปูน เมื่อไหร่จะหมดเวรหมดกรรมเสียที
- ขมิ้นกับปูน!? สหรัฐฯ พร้อมเปิดศึกกับรัสเซียหากว่าล้ำเส้นเมื่อไหร่ เตือนเตรียมตัวเจอได้เลย