สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ห. หวานเป็นลม ขมเป็นยา
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยหวานเป็นลม ขมเป็นยา
ที่มาของสำนวน บรรพบุรุษไทยเปรียบเปรยไว้ว่า แม้รสชาติหวานจะน่าติดใจแต่ก็อาจจะนำมาซึ่งโทษและภัยสารพัด ในขณะที่รสชาติขม เช่น บอระเพ็ด แม้รสชาติจะไม่น่าพิสมัยในเบื้องต้น แต่ก็นำมาซึ่งประโยชน์ต่อสุขภาพ เปรียบเสมือนคำชมหวานหูมักไร้สาระทำให้ลืมตัวขาดสติ แต่คำติซึ่งมักจะไม่ค่อยจะไพเราะเสนาะหูในเบื้องต้น มักเป็นประโยชน์ทำให้ได้คิด
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ คำชมมักไร้สาระทำให้ลืมตัวขาดสติ แต่คำติมักเป็นประโยชน์ทำให้ได้คิด
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตหวานเป็นลม ขมเป็นยา
- การที่ผู้ที่อาวุโสกว่าพร่ำสอนเรา ท่านพูดอย่างตรงไปตรงมา สิ่งไหนที่ไม่ดีท่านก็ว่ากล่าวตักเตือน อย่าไปคิดโกรธเคืองท่านเลย ดังคำโบราณที่กล่าวว่าหวานเป็นลม ขมเป็นยา
- มีคำโบราณเปรียบเปรยว่าหวานเป็นลม ขมเป็นยา แต่ขณะนี้มีรายงานการวิจัยที่ชัดเจนมากแล้วว่าหวานไม่ได้เป็นลมแล้ว แต่ความหวานโดยเฉพาะที่ได้จากน้ำตาลสังเคราะห์กำลังเป็นภัยต่อสุขภาพอย่างมาก
- เธออย่าไปโกรธเคืองเขาในสิ่งที่ถูกติติงมาเลย โบราณว่าหวานเป็นลมขมเป็นยา เธอต้องมีเหตุผลรู้จักรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้อื่น
- สำนวนหวานเป็นลม ขมเป็นยา ตอนเด็กๆ แม่ผมชอบเอาคำนี้มาใช้ตอนผมไม่กินผัก หรือตอนเด็กๆ มากก็ตอนบดยาเม็ดให้กิน แล้วก็เข้าใจมาโดยตลอดว่า มันหมายถึง ของอร่อยอาจไม่มีประโยชน์ ของที่ไม่อร่อยมันมักมีประโยชน์ คือเข้าใจว่ามันใช้เปรียบเทียบกับอาหารมาโดยตลอด
- คนที่พูดจาไพเราะเพราะพริ้งสรรเสริญเยินยอเรา มักจะไม่มีความจริงใจกับเรา เขาพูดเพื่อประจบสอพลอทำให้เราพอใจขาดสติลืมตัวได้ แต่คนที่พูดจาไม่ไพเราะ พูดตรงๆ ขวานผ่าซากกับเรา หรือบางครั้งก็ตำหนิเรา คือคนที่มีความจริงใจกับเรา ถ้าเรานำคำพูดเขามาคิดพิจารณาอย่างรอบคอบ จะเป็นประโยชน์แก่ตัวเราเอง อุปมาเสมือนดั่งว่าหวานเป็น ขมเป็นยา