สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ข. เข็นครกขึ้นภูเขา
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยเข็นครกขึ้นภูเขา
ที่มาของสำนวนนี้คือ เปรียบเอาไว้เหมือนกับการเข็น กลิ้ง หรือดันให้ครก ซึ่งมีน้ำหนักมาก ให้ขึ้นไปบนภูเขาซึ่งมีความสูง เป็นสิ่งที่ทำได้ยากและลำบากยิ่ง เป็นสำนวนเก่าพูดกันมาแต่โบราณ เป็นที่เข้าใจกันดี คือไม่ว่าอะไรที่ทำยาก ปฏิบัติยาก หรือแนะนำสั่งสอนยากจนสิ่งนั้น เรื่องนั้นไม่อาจจะสำเร็จลุล่วงไปได้ง่าย
หรือเรียกสำนวนนี้อีกอย่างว่า กลิ้งครกขึ้นภูเขา
ความหมายของสำนวนนี้ ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คือ การทำงานหรือทำอะไรที่ยากลำบาก เกินความสามารถของตน ต้องใช้ความเพียรพยายามและอดทนมากถึงที่สุด หรือบางทีก็เกินกำลังความสามารถหรือสติปัญญาของตน
สำนวนนี้มีความหมายคล้ายกับ พายเรือทวนน้ำ
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตเข็นครกขึ้นภูเขา
- นี่คุณ การที่จะหายกเตียงชุดนี้ขึ้นชั้นสองมันหนักและเกินกำลังของเราสองคนนะครับ ยากเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา ผมว่าเราจ้างคนอื่นมาช่วยยกดีกว่า
- งานนี้ยากมาก เหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา พวกเราต้องใช้ความพยายามสูงมากๆ แล้วจะสำเร็จหรือเปล่าก็ไม่รู้ได้
- หัวหน้าครับ การระดมทุนเพื่อการเพิ่มทุนของบริษัทในภาวะเช่นนี้ยากมากนะครับ ยากซะยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขาซะอีก
- แม้ความพยายามครั้งนี้แม้มันจะยากเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขาก็ต้องทำให้ได้
- พยายามให้กับคนที่ไม่ได้รักเราในแบบที่เราเป็น เหมือนดั่งเข็นครกขึ้นภูเขาโดยแท้ เพราะต่อให้ทำดีแค่ไหนก็ไม่วันสมหวัง