สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ช. ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้
ที่มาของสำนวนนี้คือ อากัปกิริยาที่ผู้ใดผู้หนึ่งชี้นกแล้วก็พูดว่านก อีกผู้หนึ่งก็สนองตามว่านก และ ในทำนองเดียวกันก็ชี้ไปที่ต้นไม้แล้วพูดว่าไม้ อีกคนก็พูดสนองตามว่าไม้
การที่คนสองคน อีกคนหนึ่งมีอำนาจ หรือมีบารมีเหนือกว่าอีกคนหนึ่ง เมื่อผู้มีอำนาจมากกว่าพูดว่าอย่างไร ผู้ที่อยู่ใต้อำนาจย่อมจะพูด หรือ ทำตาม ทั้งๆ ที่สิ่งที่พูดที่ทำนั้นอาจจะถูก หรือผิดก็ได้
สำนวนนี้มักนำมาใช้กับคู่สามีภรรยา ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเหนือกว่า อาจจะเป็นสามี หรือภรรยาก็ได้ ถ้าฝ่ายผู้มีอำนาจเหนือกว่าพูดว่าอย่างไร อีกฝ่ายก็จะคล้อยตามทันที ไม่มีการคัดค้านทั้งๆที่รู้ว่าสิ่งที่พูดนั้นผิด มักจะใช้เปรียบเทียบกับพฤติกรรมของผู้ใต้บังคับบัญชากับผู้บังคับบัญชา ที่ยอมทำตาม และเห็นด้วยกับหัวหน้า หรือผู้บังคับบัญชา เพียงเพื่อเป็นการเอาใจ และประจบสอพอเท่านั้น
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ การคล้อยตามผู้ที่มีอำนาจมากกว่า โดยที่ทำเพราะกลัวหรือต้องการประจบ ไม่ได้ทำตามเพราะมีความคิด ความเห็น หรือความต้องการที่จะทำในสิ่งนั้น
ไม่ว่าผู้มีอำนาจจะว่าอย่างใด ผู้น้อยก็ต้องคล้อยตามไปอย่างนั้นเพราะกลัว หรือประจบ กล่าวคือ ผู้เป็นนายไม่ว่าจะพูด หรือแสดงความคิดเห็นเช่นใด ลูกน้องที่คอยแต่จะประจบสอพลอ ก็จะสนองตอบรับทันที อาทิเช่น คำว่า ถูกครับนาย ใช่ครับผม เหมาะสมครับท่าน
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้
- เพราะความอยากได้คันใหม่ ภรรยาก็เลยตามใจ สามีทุกอย่าง ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ ไม่มีขัดใจ สามีอยากได้อะไร ก็เอาอกเอาใจ เต็มที่
- พรรคเพื่อไทยอยู่ใต้อำนาจบารมีของทักษิณ จนขนาดขึ้นป้ายประกาศว่า ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ นี่ย่อมแสดงว่าคุณทักษิณชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ ต่อพรรคเพื่อไทยแน่ๆ
- คนเราเวลารักกันใหม่ๆ เวลาจะทำอะไรก็ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้หมดแหละ พอหมดช่วงหวานไป นั่นแหละหนังชีวิตของจริง
- การเป็นเพื่อนกัน รักกันมาก บางทีก็ตามใจเพื่อนทุกอย่าง เพื่อว่าอย่างไร ก็ตามนั้น ชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ ไม่มีขัดใจ กลัวเพื่อนไม่ รัก ไม่มีใครคบ
- คนบางคนมีนิสัยประจบสอพลอ ชี้นกเป็นนก ชี้ไม่เป็นไม้ ตามใจหัวหน้า จนมองข้ามความถูกผิด นับวันคนแบบนี้ยิ่งมีเยอะขึ้นในสังคม แย่จริงๆ