สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ส. สุกเอาเผากิน
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยสุกเอาเผากิน
ที่มาของสำนวน การทำของให้สุกด้วยการใช้ความร้อนมากๆ และ อย่างรวดเร็วด้วยการเผาแล้วนำมากิน เปรียบกับการนำเนื้อสัตว์ หรือผลไม้มาทำให้สุกอย่างรวดเร็วด้วยวิธีการเผานั้น เนื้อด้านนอกอาจจะสุกจนไหม้เกรียม แต่เนื้อที่อยู่ข้างในอาจไม่สุกเต็มที่ หรือสุกไม่ตลอด ต้องเลือกกินเอา คือที่สุกดีก็กิน สำนวนนี้คล้ายกับผักชีโรยหน้า
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ ทำแค่ให้เสร็จๆ ให้พ้นๆ ไป ทำอย่างลวกๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลที่ออกมาว่าดีหรือไม่ ทำพอเสร็จไปคราวหนึ่งๆ กล่าวคือการกระทำอะไรแบบลวกๆ ชุ่ยๆ พอให้ผ่านไป ขาดความตั้งใจในการทำ ไม่มีความประณีตเลย สำนวนนี้มักนำมาใช้กับคนหรืองานที่ถูกทำโดยขาดความตั้งใจและขาดความพยายาม
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตสุกเอาเผากิน
- หากคุณยังทำงานแบบสุกเอาเผากินแบบนี้ ลูกค้าของคุณก็คงหายหมด
- ผมมีความเคารพในตัวเองจะไม่ทำงานแบบสุกเอาเผากินเด็ดขาด แม้ว่าจะไม่มีใครเห็น แต่คุณค่าที่ผมทำ สักวันมันจะตอบแทนผมเอง
- เด็กสมัยนี้ทำงานส่งครูแบบสุกเอาเผากิน เพียงแค่หวังคะแนนเท่านั้น ไม่ได้สนใจองค์ความรูปที่ได้ในชิ้นงานที่ทำเลย
- ไม่ว่าบริษัทจะให้เงินเดือนไม่เยอะ แต่ก็ไม่ควรทำงานแบบสุกเอาเผากิน คิดถึตอนบริษัทให้โอกาสเรามาทำงานบ้าง ควรจะทำให้ดีที่สุดเพื่อตัวเอง
- กระแสประกวดร้องเพลงจะได้รับความนิยมท่วมท้น เพราะสื่อสารถึงกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจน ทั้งกลุ่มผู้เข้าประกวดและกลุ่มผู้ชอบฟังเพลง แต่ปัญหาชักเริ่มเห็นรางๆ ในบางรายการบางช่องที่มัก “สุกเอาเผากิน” ไม่มีเป้าหมายสำหรับสุดท้ายปลายทาง กำลังหมายถึงคุณภาพของผู้แข่งขันและคุณภาพของกรรมการ ดีพอที่จะเรียกตัวเองว่า “การประกวดร้องเพลง” แล้วหรือยัง??!!