สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ก. ไกลปืนเที่ยง
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยสุภาษิตไกลปืนเที่ยง
ที่มาของสำนวนนี้คือ การยิงปืนบอกเวลาเที่ยงวันในสมัยโบราณ เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีนาฬิกาใช้กันอย่างแพร่หลายเช่นปัจจุบันปืนเที่ยง เป็นส่วนหนึ่งของราชการ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยิงขึ้นในกรุงเทพฯ เพื่อเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าถึงเวลาครึ่งวันแล้ว ข้าราชการที่ทำงานหยุดครึ่งวัน พักเที่ยง จัดการกับอาหารมื้อกลางวัน บรรดาพระสงฆ์ที่กำลังจังหัน ฉันเพล ก็จะต้องยุติ ปืนเที่ยงคือสัญญาณให้ประชาชนรู้ว่าถึงเวลาเที่ยงวัน เป็นเวลาที่พระอาทิตย์อยู่ตรงศีรษะพอดี ปืนที่ใช้ยิงนี้เป็นปืนหลวง เป็นปืนที่บรรจุกระสุนหลอก หน่วยงานที่รับภาระในการยิงปืนเที่ยงเป็นประจำนั้น ได้แก่กองทัพเรือไทย กำหนดเวลายิงปืน คือตอนพระอาทิตย์ตรงหัว คือเที่ยงตรง แต่ในกรณีที่ว่าพระอาทิตย์ตรงหัว อาจไม่แน่นอนเสมอไป แต่สำหรับเวลาเที่ยงวันนั้นเป็นสิ่งแน่นอน เพราะทางราชนาวีไทยมีวิชาคำนวณทางดาราศาสตร์น ไกลปืนเที่ยงจึงหมายความว่า อยู่ไกลมากจนไม่ได้ยินเสียงสัญญาณปืนที่บอกเวลานั่นเอง
สรุปความหมายของสำนวนนี้คือ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ สมัยก่อนเปรียบเปรยถึงคนที่อยู่ไกลมากจนไม่ได้ยินเสียงสัญญาณปืนที่บอกเวลา กล่าวคือเปรียบกับคนที่ไม่ค่อยรู้ความเป็นไปของบ้านเมือง กันดาร ห่างไกลความเจริญจนไม่รู้เรื่องอะไรเลย ขนาดเสียงปืนใหญ่ที่ว่าดังยังไม่ได้ยิน
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตไกลปืนเที่ยง
- คิดยังไงเหรอลูก ถึงขอย้ายไปทำงานในที่ไกลปืนเที่ยงขนาดนั้น พ่อแม่จะไปเยี่ยมแต่ละครั้งก็ลำบากมาก
- มีนักการเมืองบางคนที่ยังนึกว่าประชาชนอยู่ไกลปืนเที่ยง และชอบเสกสรรปั้นข้าว หรือโกหกคำโตๆ อยู่เป็นประจำ
- ยายศรีมันจะรู้ได้ไงละเธอ อยู่ซะไกลปืนเที่ยงซะขนาดนั้น ป่านนี้คุยกับภูเขารู้เรื่องแล้วมั๊ง
- สมชายนี่บ้านอยู่ไกลปืนเที่ยงเสียจริง จะเข้าเมืองแต่ละทีใช้เวลาเป็น 10 ชั่วโมง
- ถึงโลกพัฒนาไปต่อไหนแล้ว แต่คนบางคนยังเลือกอยู่ไกลปืนเที่ยง ใช้ชีวิตเรียบง่าย อยู่กับธรรมชาติ ซึ่งมันก็ดีไปอีกแบบ