สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ข. เข้าตามตรอก ออกตามประตู
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยเข้าตามตรอก ออกตามประตู
ที่มาของสำนวนนี้คือ ตอนเข้ามาก็มาตามตรอกตามปกติ และเวลาออกก็ออกทางประตู ตามปรกติธรรมดาวิสัย ตรอก และประตู ก็คือทางเดินเข้าออกตามปรกติสามัญธรรมดาๆ ทั่วไปของบุคคลต่างๆ ไม่ใช่เข้าออกโดยทางอื่น ซึ่งผิดปรกติวิสัยของบุคคลธรรมดาๆ ทั่วไป คงเป็นผู้ไม่หวังดีอย่างแน่นอน
สรุปความหมายของสำนวนนี้ อ้างอิงจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คือทําตามธรรมเนียมในเรื่องการสู่ขอ ชายหนุ่มกับหญิงสาวที่ต่างก็ผูกสมัครรักใคร่กัน ต่างก็ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่มีการละลาบละล้วงมือสั้นมือยาว รักษาวัฒนธรรมประเพณีที่มีมาตั้งแต่โบราณ เมื่อถึงเวลาก็มาสู่ขอกันตามขนบธรรมเนียมประเพณี สำนวนดังกล่าวเป็นสำนวนที่ใช้ในการเตือนใจผู้คนให้พึงระมัดระวังในการคบกัน เป็นการปรามไม่ให้ทั้งสองนั้นออกนอกลู่นอกทางชิงสุกก่อนห่ามจนทำให้ผู้ใหญ่เสียหน้าได้
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตเข้าตามตรอก ออกตามประตู
- พ่อกับแม่ไม่ว่าหรอกนะถ้ารักใคร่ชอบพอกัน แต่ขอให้เข้าตามตรอกออกตามประตู ไม่เป็นที่นินทาของชาวบ้านก็พอแล้ว
- หญิงสาวบอกกับชายหนุ่มว่า ถ้าเธอรักฉันจริงๆ ก็จงเข้าตามตรอก ออกตามประตู ไปบอกพ่อแม่ของเธอมาสู่ขอฉัน
- นายหมีเป็นที่ชอบพอของครอบครัวฝ่ายหญิงเพราะดูแลลูกสาวเขาดี เข้าตามตรอกออกตามประตู ผู้ใหญ่ก็เลยสนับสนุน
- การทำตามประเพณีโบราณเข้าตามตรอก ออกตามประตูเป็นข้อดีทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง เพราะอย่างน้อยๆ ก็รู้ว่าทั้งคู่เป็นคนที่มีคุณภาพ น่าเชื่อถือได้
- การทำตามประเพณีเข้าตามตรอก ออกตามประตูมันก็ดีเหมือนกันนะ เพราะอย่างน้อยเราก็ได้ศึกษาดูใจไม่ใช่แค่สองคน แต่เป็นครอบครัวฉันและเธอด้วย