สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ข. ไข่ในหิน
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยไข่ในหิน
ที่มาของสำนวน สำนวนนี้อธิบายได้สองอย่าง ประการแรกไข่มีเปลือกเปราะ แตกง่าย หินเป็นสิ่งที่แข็งแกร่ง เปรียบเหมือนการดูแลรักษาและปกป้องมั่นคง ไข่ที่ฝังซ่อนไว้ในหินคือสิ่งที่อยู่ในความดูแลประคับประคองที่ปลอดภัย ประการที่สองสำนวนนี้มักใช้เชิงประชดว่าทะนุถนอมจนเกินเหตุ โดยเปรียบกับไข่ที่อยู่ท่ามกลางหินซึ่งจะทำให้ไข่แตกได้ง่าย จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ ของที่ต้องระมัดระวัง ทะนุถนอมอย่างยิ่ง
สำนวนนี้เปรียบเปรยถึงสิ่งของหรือสิ่งมีชีวิตที่ต้องดูแลอย่างดี ไม่ให้แตกหัก สูญเสีย สูญหาย อย่างการเลี้ยงดูลูกเหมือนไข่ในหิน ไม่ให้ลำบาก ไม่ให้เจอปัญหาใดๆ มาทำให้ได้รับอันตราย ซึ่งไม่ใช่เรื่องดี
มักจะใช้เปรียบเทียบการเลี้ยงบุตรหลาน เลี้ยงดูอย่างดีมาก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องดี เพราะลูกจะโตมาแบบไม่มีภูมิคุ้มกัน อ่อนแอ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เพราะพ่อแม่จัดการให้ทั้งหมด ต่างจากการเลี้ยงลูกแบบให้รู้จักช่วยเหลือตัวเอง ทำอะไรด้วยตนเอง ลูกหลานจะโตขึ้นเป็นคนที่เข็มแข็ง ช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่เป็นภาระใคร
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตไข่ในหิน
- ในเรื่องขุนช้างขุนแผน นางวันทองตัดพ้อขุนแผนที่ไม่เห็นค่าและความดีของตนที่อุตส่าห์ถนอมตัวไว้ไม่ให้มัวหมอง ว่า “เสียแรงน้องครองตัวไม่มัวหมอง ดังแว่นทองส่องสว่างพระเคหา ดุจไข่ฝังไว้ในศิลา อุตส่าห์ซ่อนเร้นทั้งเรือดไร”
- ครอบครัวที่มีลูกสาวคนเดียวส่วนใหญ่ มักจะถูกเลี้ยงดูเหมือนไข่ในหิน ทะนุทนอมเป็นอย่างดี แทบจะไม่ต้องหยิบจับทำอะไรเลย
- บ้านของเศรษฐีบางคนนั้นเลี้ยงลูกแบบ ไข่ในหิน ไม่ให้ลูกทำอะไรเลย กลัวจะลำบาก กลัวจะไม่สบาย กลัวจะได้รับอันตราย ทำให้เด็กโตขึ้นเป็นคนอ่อนแอ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ หากพ่อแม่ไม่อยู่แล้ว เด็กจะเอาตัวรอดได้อย่างไร
- นี่วิชิตข้อมูลนี้สำคัญกับบริษัทเรามาก ห้ามทำหายหรือเสียหายเด็ดขาด ต้องดูแลให้ดีที่สุดเหมือนไข่ในหินเลย เข้าใจไหม!
- ถ้าคุณเลี้ยงลูกเหมือนไข่ในหินแบบนี้ ไม่ยอมให้ทำอะไรเลย ไม่เคยเผชิญปัญหา ระวังโตมาอยู่ในสังคมจะลำบากนะ