สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ฆ. ฆ่าไม่ตายขายไม่ขาด
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยฆ่าไม่ตายขายไม่ขาด
ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยถึงการทำทีว่าจะฆ่าก็ไม่ฆ่าจริงๆ เพราะไม่ทำให้ถึงตาย ทำแบบไม่จริงไม่จัง ทำแบบหลอกๆ แสดงว่ายังมีความเมตตากรุณาหลงเหลืออยู่บ้าง และคำว่าขาย ทำท่าว่าจะ ขายก็ไม่ขายอย่างเด็ดขาด โดยคนโบราณเล่นคำสองคำระหว่าง ฆ่าไม่ตาย กับ ขายไม่ขาด ให้คล้องจองกัน
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ ตัดเยื่อใยไม่ขาด (มักใช้แก่พ่อแม่ที่รักลูกมากถึงจะโกรธจะเกลียดอย่างไรก็ตัดไม่ขาด)
สำนวนนี้มักจะใช้เปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่าง คนกับคนด้วยกันเองหรือสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม มีความผูกพันกันมาก ตัดกันไม่ขาด เรามักจะพบเห็นบ่อยๆ ก็คนในครอบครัว ที่ ตัดกันไม่ขาด หรือคู่สามีภรรยาที่เหมือนคู่ทุกข์ คู่ยาก คู่รักคู่แค้น
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตฆ่าไม่ตายขายไม่ขาด
- น่าเห็นใจครอบครัวนี้จริงๆ ลูกชายพึ่งไม่ได้ แถมมีแต่สร้างเรื่องเดือดร้อนเข้าบ้านเสมอ พ่อแม่ก็ฆ่าไม่ตายขายไม่ขาด คอยช่วยเหลือทุกครั้งไป
- เธอเป็นลูกแท้ๆ ของพ่อแม่ ถึงแม้ว่าจะทำอะไรพลาดพลั้งไปบ้าง แม้ว่าจะเลวร้ายขนาดไหนก็ตาม ถ้ากลับบ้านไปขอขมาลาโทษท่าน ผู้เป็นพ่อเป็นแม่ถึงจะโกรธสักเพียงใด ท่านก็ฆ่าไม่ตายขายไม่ขาดหรอก
- ก็เพราะเธอกับเขามัน ฆ่าไม่ตายขายไม่ขาด กันไง พอเลิกกันไปเดี๋ยวก็กลับมาคบกันอีก ไป ๆ มา ๆ อยู่แบบนี้ไม่รู้จบ
- ถึงเธอจะทำอะไรพลาดพลั้งไป เลวร้ายขนาดไหน ก็กลับไปขอขมาขอโทษท่านเถอะ คนเป็นพ่อแม่ถึงจะโกธรขนาดไหนก็ฆ่าไม่ตายขายไม่ขาดหรอก
- “ฆ่าไม่ตายขายไม่ขาด” ประกาศว่า เพียงบิดรมารดาพาลุล่วง หาใช่ใครไหนกล้ามาหลอกลวง จะรัก, ห่วง, ดวงตาค่าไม่พอ เป็นสำนวนสื่อถึงพึงสื่อสาร คำเรียกขานนานแท้ คือ แม่ พ่อ ที่เยื่อใยไม่ขาดแม้ปาดคอ มากบุญก่อต่อตั้ง โปรดสังวร