สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ป. ปลาใหญ่กินปลาเล็ก
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยปลาใหญ่กินปลาเล็ก
ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยถึงการใช้ชีวิตในธรรมชาติของปลา โดยปลาตัวใหญ่ที่มีขนาดโตกว่า จะกินปลาที่ตัวเล็กที่ไม่มีทางสู้ เปรียบเปรยถึงผู้ที่มีกำลังอำนาจที่เอาเปรียบผู้ที่อ่อนแอกว่า
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ คนที่มีอำนาจหรือกำลังเหนือกว่า ก็จะเอาชนะหรือเอาเปรียบ คนที่มีอำนาจหรือกำลังน้อยกว่าเสมอเป็นทอดๆ ไป
ปัจจุบันมักจะนำมาเปรียบเทียบกับการประกอบธุรกิจที่ ธุรกิจขนาดใหญ่เข้ามาแข่งขันทำให้ธุรกิจขนาดเล็กไม่สามารถแข่งขันได้ต้องปิดกิจการลง
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตปลาใหญ่กินปลาเล็ก
- ในวงการธุรกิจ ปลาใหญ่กินปลาเล็กทั้งนั้น บริษัทไหนมีทุนมากก็ได้เปรียบ เดี๋ยวนี้บริษัทเล็กๆก็พยายามจับมือกัน เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง ขยายเครื่อข่ายธุรกิจของตนเอง ไม่เช่นนั้นก็จะอยู่ไม่ได้ ถูกบริษัทใหญ่กลืนกินไป
- บริษัทอัลฟ่าเป็นบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ที่มีพฤติกรรมเหมือนปลาใหญ่กินปลาเล็ก คือเข้ามาซื้อกิจการบริษัทขนาดเล็กในราคาต่ำมากๆ แต่บริษัทเล็กเหล่านั้นต้องจำใจขายเพราะสู้บริษัทยักษ์ใหญ่ไม่ได้
- เมื่อจะต้องผลิตสินค้าประเภทเดียวกัน เพื่อแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่ โอกาสชนะค่อนข้างยากและมักจะเสียเปรียบ สู้ไม่ได้ เหมือนปลาใหญ่กินปลาเล็ก ทุนน้อย กำลังน้อยมีโอกาสแพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม
- บริษัทใหญ่ แกล้งบริษัทเล็กด้วยการลดราคาสินค้าลงต่ำกว่าต้นทุน ยอมขาดทุนในระยะสั้น เพราะมีทุนมาก ทำให้บริษัทเล็กๆ ไม่สามารถขายสินค้าได้ จนต้องปิดกิจการลงในที่สุด
- เกษตรสัญญาทาส? ปลาใหญ่กินปลาเล็ก “ระบบเกษตรพันธสัญญา” หรือ “คอนแทรกท์ ฟาร์มมิ่ง (Contract Farming)” ไม่ใช่เป็นความชั่วร้าย แต่ภาครัฐหรือองค์กรที่เป็นกลางจะต้องเข้ามาติดตามดูแล คอยควบคุมกำกับ สัญญากลางจะต้องเป็นธรรมกับเกษตรกรผู้ลงทุน