สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ข. ขี่ช้างอย่าวางขอ
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยขี่ช้างอย่าวางขอ
ที่มาของสำนวน สำนวนสุภาษิตนี้ใช้เตือนใจผู้บังคับบัญชา โดยเปรียบเปรยถึงควาญช้าง ที่ต้องคอยถือขอสับช้างอยู่เสมอ เพื่อที่จะบังคับให้ช้างอยู่ในโอวาส ถ้าหากวางขอ หรือไม่ใช้ขอคอยสับไว้ ช้างก็อาจไม่เชื่อฟัง ไม่อยู่ในโอวาสของตนได้
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ การไว้วางใจผู้ที่อยู่ภายใต้การปกครอง จนกลายเป็นความประมาท ละเลย
สำนวนนี้เอาไว้เตือนใจกับผู้ที่มีลูกน้อง หรือผู้ใต้บังคับบัญชา ต้องหมั่นกวดขันเอาใจใส่ ให้อยู่ในระเบียบวินัย ซึ่งต้องดูแลกวดขันอย่างสม่ำเสมอ
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตขี่ช้างอย่าวางขอ
- ที่เขาต้องหมดตัวอยู่ทุกวันนี้เพราะ เมื่อก่อนเขาไว้ใจลูกน้องมากเกินไปให้ลูกน้องเป็นผู้ควบคุมดูแลร้าน แล้วเขาก็รอรับรายงานอย่างเดียว มารู้ตัวว่าลูกน้องได้ตกแต่งบัญชีก็เมื่อมีธนาคารมาทวงหนี้ เข้าทำนองขี่ช้างวางขอ
- ผู้ที่เป็นหัวหน้า ต้องคอยดูแลเอาใจใส่ลูกน้องอยู่เสมอ ไม่ปล่อยปละละเลย ดังสุภาษิตไทยที่ว่าขี่ช้างอย่าวางขอ
- บทกลอนขี่ช้างอย่าวางขอ เป็นควาญช้างเชี่ยวชาญชำนาญข้อ อย่าปล่อยขอห่างมือหรือเลยหล่น หากหละหลวมช้างเหลิงระเริงรน จะพาผลเสียหายไม่เชื่อฟัง เหมือนเปรียบรู้ผู้เป็นเช่นหัวหน้า นั้นจงอย่าหย่อนคล้อยลับลอยหลัง รู้กวดขันมั่นวินัยให้ยืนยัง ย่อมมิพลั้งเฝื่อนเฝือ… ในเนื้องานฯ
- ผมเคยเตือนคุณแล้วว่าอย่าขี่ช้างวางขอ ต่อให้เป็นคนสนิทแค่ไหนก็ตาม คุณต้องเข้าไปดูแลร้าน คอยตรวจสอบบัญชีบ้าง ไม่ใช่ไว้วางใจให้ลูกน้องทำทุกอย่าง สุดท้ายก็ถูกลูกน้องยักยอกสินค้าไปโดยไม่รู้ตัว
- เป็นหัวหน้างานต้องมีเส้นแบ่งระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง ไม่อย่างนั้นคนอื่นจะเคารพเราได้อย่างไร ถ้าทำตัวให้ลูกน้องไม่นับถือ ก็จะไม่มีใครนับถือ ขี่ช้างอย่าวางขอ ให้มีขอบเขตให้ชัดเจนในการทำงาน