สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ห. หนังหน้าไฟ
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยหนังหน้าไฟ
ที่มาของสำนวน ในสมัยโบราณก่อนพิธีจุดไฟเผาศพ มักจะมีมโหรสพประเภทหนังตะลุง หรือหนังใหญ่ มาแสดงให้คนที่มาฟังพระสวดอภิธรรมให้ได้ชมกัน จนกระทั่งในวันพิธีจุดไฟเผาศพ หนังจะเริ่มทำการแสดงก่อนพิธีเผาศพ เพื่อให้แขกเหรื่อที่มาก่อนจะได้ชมการแสดงไปพลางๆ ก่อน หนังตะลุง หรือหนังใหญ่ จะเป็นรูปภาพที่แกะสลักจากผืนหนัง เวลาแสดงต้องใช้คนชัก หรือใช้คนเชิด เพื่อให้แผ่นภาพหนังที่แกะสลักนั้นเคลื่อนไหวตามที่ต้องการ เราจึงเรียกกันว่า เชิดหนัง หรือชักหนัง เมื่อมาทำการแสดงหน้าไฟ(เวลาที่จุดไฟเผาศพ) เราจึงเรียกกันว่า เชิดหนังหน้าไฟ หรือชักหนังหน้าไฟ แล้วกร่อนมาเป็น “หนังหน้าไฟ”
หนังหน้าไฟ จึงหมายถึง การแสดง หรือการกระทำก่อนที่จะมีพิธีการใหญ่ คือพิธีจุดไฟเผาศพ
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ ผู้ได้รับความเดือดร้อนก่อนผู้อื่น หรือผู้ที่คอยขันอาสารับหน้า รับความลำบาก หรือเป็นตัวแทนรับเรื่องราว(ค่อนข้างไม่ดี) ก่อนผู้อื่นเป็นคนแรก ว่าทำตัวเป็นหนังหน้าไฟนั่นเอง
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตหนังหน้าไฟ
- ผมนับถือและรักหัวหน้าจริงๆ เพราะเมื่อเวลาที่ผมทำงานผิดพลาด หัวหน้าจะยอมเป็นหนังหน้าไฟออกรับหน้าช่วยเหลือผมเสมอ
- ลูกทำความผิดมา พ่อความผิดมาแม่ก็ต้องเป็นหนังหน้าไฟปกติอยู่แล้ว พ่อแม่คนไหนก็ต้องรักลูก แต่ถ้าลูกผิดก็คือผิด อย่าเอาใจลูกมากเกินไป มันคือบทเรียนชีวิต
- เพราะเขาเป็นลูกหลานตระกูลดัง ทุกครั้งที่มีข่าวเสียๆหายๆทำให้ญาติพี่น้องต้องกลายเป็นหนังหน้าไฟเสมอๆ
- ผมยอมเป็นหนังหน้าไฟ ไม่ยอมให้ใครมารังแกครอบครัวของเรา ผมจะดูแลปกป้องในฐานะครอบครัวให้ดีที่สุด
- สมหญิงทำตัวแย่ๆ มาทั้งชีวิตเพราะมีคนรับหน้าเป็นหนังหน้าไฟมาโดยตลอด ทำให้เธอไม่รู้จักผิดถูก ผิดชอบชั่วดี แบบนี้น่าเป็นห่วงเสียจริง