สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ท. ทองแผ่นเดียวกัน
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยทองแผ่นเดียวกัน
ที่มาของสำนวนนี้คือ มาจากประเพณีการแต่งงานของไทยนับตั้งแต่สมัยโบราณกาลมา นอกจากฝ่ายชายจะเสียค่าสินสอด และทองหมั้นแล้ว เวลาทำพิธีรดน้ำสังข์อวยพรให้คู่บ่าวสาว จะให้ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าว และเจ้าสาว (คุณพ่อ-คุณแม่ , คุณปู่-คุณย่า , คุณตา-คุณยาย และ อื่นๆ) รดน้ำสังข์ และ ผูกข้อมือเจ้าบ่าว-เจ้าสาว พร้อมกับอำนวยอวยพรให้คู่บ่าวสาว และมอบของขวัญให้แก่คู่บ่าวสาว สมัยก่อนมักจะนิยมใช้ทองเป็นของขวัญเพื่อเป็นการรับขวัญคู่บ่าวสาว แล้วต่อมาก็จะเป็นแขกผู้มีเกียรติซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมให้เป็นเงิน เมื่อเสร็จพิธีญาติผู้ใหญ่จะนำทอง และ เงินที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวได้รับนั้นมาห่อรวมกันเป็นห่อเดียว แล้วมอบให้เจ้าบ่าว และ เจ้าบ่าวจะมอบให้เจ้าสาวอีกต่อหนึ่ง เป็นอันเสร็จพิธี จึงเป็นที่มาของคำว่าทองแผ่นเดียวกัน
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ โบราณท่านเปรียบเอาไว้ถึงครอบครัวสองครอบครัวที่มีลูก และลูกของทั้งสองครอบครัวแต่งงานกัน จึงถือเสมือนว่าทั้งสองครอบครัวนี้เกี่ยวดองกัน เป็นทองแผ่นเดียวกัน
กล่าวคือเมื่อก่อนทั้งสองครอบครัวไม่มีการเกี่ยวข้องกันทางสายเลือดเลย ทรัพย์สินเงินทองจึงไม่มีการผูกพันกัน เปรียบเสมือนดั่งว่าเป็นทองคนละแผ่น แต่เมื่อลูกสาวกับลูกชายของแต่ละฝ่าย มาแต่งงานกันทรัพย์สมบัติของทั้งสองฝ่ายต่างก็นำมามอบให้ลูกสาวลูกชาย ฉะนั้นทั้งสองครอบครัวก็ดูประหนึ่งว่าเป็นญาติกัน เป็นการเกี่ยวดองกันโดยการแต่งงาน อุปมาเสมือนดั่งว่า เป็นทองแผ่นเดียวกัน
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตทองแผ่นเดียวกัน
- ไหนๆ เราทั้งสองครอบครัวก็เป็นทองแผ่นเดียวกันแล้วถ้าคุณมีปัญหา ต้องการความช่วยเหลือเราก็ยินดีที่จะช่วย
- เราทั้งสองครอบครัวก็เป็นทองแผ่นเดียวกันแล้ว ถ้าคุณมีปัญหาอะไร เราก็ยินดีที่จะช่วยเหลืออย่างเต็มที่
- เมื่อคู่บ่าวสาวที่มาจากสองครอบครับแต่งงานกัน ครอบครัวทั้งสองก็มี่ความเกี่ยวดองแน่นแฟ้นเป็นทองแผ่นเดียวกัน
- เป็นที่ฮือฮาไปทั่วประเทศเมื่อสองตระกูล อภิมหาเศรษฐีของเมืองไทยที่กลายมาเป็นทองแผ่นเดียวกัน เป็นการเสริมความมั่งคั่งให้กับทั้งสองตระกูล
- ครอบครัวนายแม้นมีลูกชาย ครอบครัวนายมามีลูกสาว ต่อมาลูกชายนายแม้นเกิดชอบพอกับลูกสาวของนายมาและตกลงแต่งงานกัน โบราณท่านถือว่าครอบครัวของนายแม้นและนายมานั้นเป็นทองแผ่นเดียวกันนั่นเอง