สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ บ. บอกหนังสือสังฆราช
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยบอกหนังสือสังฆราช
ที่มาของสำนวนนี้ สำนวนนี้กาญจนาคพันธุ์ สันนิษฐานว่ามาจากเรื่องศรีธนนไชย ซึ่งเล่ากันว่า ศรีธนนไชยขาดเข้าเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินหลายวัน พระเจ้าแผ่นดินมีรับสั่งถามว่า ทำไมขาดเข้าเฝ้า ศรีธนนไชยกราบทูลว่า “ไปบอกหนังสือสังฆราช” พระเจ้าแผ่นดินสงสัยว่า ศรีธนนไชยมีความรู้สูงแค่ไหน จึงไปบอกหนังสือสังฆราชได้ เมื่อรับสั่งถามพระสังฆราช ก็ได้ความว่าคัมภีร์ของพระสังฆราชตกอยู่บนพื้นดิน ศรีธนนไชยบอกให้เก็บขึ้นมา ไม่ใช่อย่างที่พระเจ้าแผ่นดินเข้าใจ ที่หมายถึงการไปสอนหนังสือพระสังฆราช
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ การไปบอก หรือไปสอนคนที่รู้อะไรดีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำเป็นอย่างยิ่ง
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตบอกหนังสือสังฆราช
- เขาคงจำไม่ได้ว่าคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ ถึงได้มาทำเป็นสอนหนังสือสังฆราช แนะนำกับเป็นจริงเป็นจังเลยทีเดียว
- ท่านอาจารย์เปลื้อง ณ นคร ท่านเป็นนักปราชญ์ด้านภาษาไทย เราอย่าทำรู้ดีไปแก้ไขสำนวนของท่านเลย มันจะกลายเป็นว่าบอกหนังสือสังฆราช
- คนที่เขาปฏิบัติมามากๆ อาจไม่เก่งด้านทฏษีหรอก แต่ฝีมือเชี่ยวชาญมาก เราจบสูงกว่าเขาก็จริง แต่ด้านปฏิบัติอาจเทียบชั้นกันไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นอย่าไปบอกหนังสือสังฆราชเลย จะเป็นการดูถูกเขาเสียเปล่าๆ
- ก่อนจะสอนหรือแนะนำเรื่องใดแก่ผู้ใด ก็ควรรู้ก่อนว่า คนผู้นั้น มีความรู้มากกว่าตนเองหรือไม่ อย่าไป สอนหนังสือสังฆราช อย่าไปสอนคนที่เก่งกว่าตน บางคนร่ำเรียนวิชา หรือศึกษามาเพียงน้อยนิดในเรื่องหนึ่ง เรื่องใด ก็จะรีบสอนหรือแนะนำคนอื่น โดยเฉพาะคนที่เก่งแล้ว
- ป้าแดงนั่งคุยเรื่องการนั่งสมาธิกับแม่ชีซึ่งบวชเรียนมานาน แต่ป้าแดงมีนิสัยชอบอวดรู้ว่าตนเก่งเหนือใครๆ จึงกลายเป็นการสอนหนังสือสังฆราช