สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ฟ. ฟังหูไว้หู
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยฟังหูไว้หู
ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยถึงการที่คนเราฟังเรื่องราวใดๆ ให้ใช้หูฟังข้างเดียว ส่วนหูอีกข้างให้เอาไว้ก่อน คือปิดหูอีกข้างไว้ คนโบราณท่านสอนให้เราไม่เชื่อเรื่องราวที่ได้รับฟังในทันที แต่ควรไต่ตรองพิจารณาก่อนว่าเรื่องเหล่านั้นน่าจะเป็นไปได้หรือไม่ มีเค้ามูลความจริงมากน้อยเพียงใด คนพูดมีความน่าเชื่อถือขนาดไหน และคนที่พูดคาดหวังอะไรจากการเล่าเรื่องนั้นๆให้เราฟัง
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ การรับฟังเรื่องราวต่างๆ แต่ไม่เชื่อทั้งหมดในทันที แต่รับฟังไว้ก่อนแล้วจึงพิจารณาในภายหลังว่าสิ่งนั้นเชื่อถือได้หรือไม่
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตฟังหูไว้หู
- เรื่องเหนือธรรมชาติผีสางเรื่องแบบนี้ต้องฟังหูไว้หูบ้าง เราไม่รู้ว่าที่ฟังมาจริงเท็จแค่ไหน
- เมื่อวานฉันได้ยินป้าสมจิตคุยกับเพื่อนบ้านว่า ที่ดินข้างวัดในหมู่บ้านจะมีถนนใหญ่ตัดผ่าน เราควรไปซื้อที่ไว้เก็งกำไร เมื่อฉันเอาเรื่องนี้มาปรึกษากับแม่ แม่บอกว่า ได้ยินอะไรมา ก็ต้อง “ฟังหูไว้หู” ลองคิดดูดีๆก่อน ว่าเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
- ความน่าเชื่อถือของผู้พูดก็มีส่วนอย่างมากต่อการฟังหูไว้หูด้วย แม้เรื่องนั้นจะเป็นเรื่องจริง แต่ถ้าผู้พูดมีความน่าเชื่อถือต่ำเสียแล้ว ผู้คนก็มักจะ “ฟังหูไว้หู” เสมอ
- เวลาใครมาเล่าอะไรเกี่ยวกับผมให้คุณฟังก็ควรฟังหูไว้หูเสียบ้าง ไม่ใช่ไปเชื่อใครเขาเสียหมด ทำแบบนี้เหมือนไม่ให้เกียรติผมเลย
- ฟังหูไว้หู ลือหนักกฏหมายเกี่ยวกับการขายที่ดินให้ต่างชาติ ผ่านรอบแรกแล้ว งานนี้ใครได้ใครเสีย!?