สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ห. หมดเขี้ยวหมดงา
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยหมดเขี้ยวหมดงา
ที่มาของสำนวน มาจากช้างที่แก่แล้ว มันจะไม่มีหรือหมดสิ้นซึ่งเขี้ยวสำหรับฉีกอาหาร และไม่มีงาสำหรับต่อสู้สัตรู หรือป้องกันตัวอีกต่อไป เมื่อวัยชรามาถึงทั้งเขี้ยว และงาก็จะหลุดลง มันเป็นกฎของธรรมชาติ
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ หมดอํานาจวาสนา สิ้นฤทธิ์ สิ้นเขี้ยวสิ้นเล็บ ก็ว่า
มักใช้กับคนชราที่หมดอำนาจวาสนาบารมีแล้ว หรือหมดกำลังวังชาที่จะทำอะไรได้แล้ว ก็อุปมาเหมือนดังกับช้างที่หมดเขี้ยวหมดงา หมดเขี้ยวหมดเล็บ หรือสิ้นเขี้ยวสิ้นเล็บ
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตหมดเขี้ยวหมดงา
- ทุกชีวิตย่อมมีขึ้นมีลง มีสูงมีต่ำ ขึ้นสูงมีอำนาจล้นมือ สักวันก็ร่วงโรยหมดเขี้ยวหมดงาตามกาลเวลาและธรรมชาติ
- ตอนเขาดำรงตำแหน่งใหญ่โตเขาก็ชอบเบ่ง หลงไหลในอำนาจ พอถึงเวลาเกษียนก็หมดเขี้ยวหมดงา ไม่กล้าไปอวดเบ่งใส่ใครอีก
- ทหารยศนายพลคนนั้นหมดสิ้นอำนาจแล้ว จะพูดจะทำสิ่งใดใครๆ ก็ไม่ให้ความสำคัญอีกต่อไป เพราะมันเป็นยุคใหม่แล้ว
- สมัยหนุ่มๆ ผมก็เป็นทหารฝีมือดีคนหนึ่งเหมือนกัน ไม่กลัวศัตรูหน้าไหนทั้งนั้น แต่ด้วยอายุที่มากขึ้นก็ทำให้หมดเขี้ยวหมดงาไปตามวัย
- คุณพ่อของผมเคยเป็นผู้มีอิทธิพลใหญ่โต ทุกวันนี้หมดเขี้ยวหมดงา กลายเป็นแค่ตาแก่ๆ คนหนึ่งที่อยู่อย่างสงบเรียบง่าย