สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ง. เงยหน้าอ้าปาก / ลืมตาอ้าปาก
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยเงยหน้าอ้าปาก / ลืมตาอ้าปาก
ที่มาของสำนวนนี้คือ กิริยาอาการที่เงย หรือ แหงนหน้าขึ้น และ อ้าปาก ตามปรกติธรรมดาธรรมชาติของคนยากคนจนมีฐานะต้อยต่ำไม่ทัดเทียมผู้อื่นมักจะไม่ค่อยเข้าสังคมกับผู้ใด หรือ ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องเข้าสังคมจริงๆก็มักจะนั่งก้มหน้ารับฟังคนอื่นพูด ไม่กล้าที่จะอ้าปากพูด เพราะรู้ตัวดีว่าเป็นคนจนจะต้องเจียมเนื้อเจียมตัว เรียกว่าไม่ต้องได้เงยหน้าอ้าปากเลย ส่วนคนที่มีฐานะดีทัดเทียมผู้อื่นก็จะเชิดหน้าชูคอพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำ
สรุปความหมายของสำนวนนี้ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ มีฐานะดีขึ้นกว่าเดิมพอทัดเทียมเพื่อน กล่าวคือผู้ที่เคยมีฐานะยากจนแล้วมีฐานะดีขึ้นกว่าเดิมพอทัดเทียมเพื่อนๆ พอที่จะเข้าสังคมพูดคุยกับคนอื่นได้ ไม่ต้องไปนั่งก้มหน้ารับฟังเขาพูดแต่ฝ่ายเดียว อุปมาเสมือนดั่งว่า พอจะเงยหน้าอ้าปาก, ลืมตาอ้าปาก หรือลืมหน้าอ้าปากได้นั่นเอง
ตัวอย่างการใช้สุภาษิต
- บุญคุณของคุณลุงศักดิ์ฉันจะไม่ลืม ที่ฉันสามารถเงยหน้าอ้าปากได้ทุกวันนี้เพราะคุณลุงช่วยสอนวิชาอาชีพให้ ทำให้ฉันมีวิชาติดตัว ทำมาหาเลี้ยงตัวเองได้
- ชาวนาที่ตกทุกข์ได้ยากจากการจำนำข้าวกับรัฐบาลนายกฯ เร่งจ่ายค่าจำนำข้าวให้ ทำให้พวกเขาลืมตาอ้าปากได้
- เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปีที่แล้ว ทำให้ทุกวันนี้เกษตรกรก็ยังไม่สามารถเงยหน้าอ้าปากได้ เพราะไร่นาเสียหายไปเป็นจำนวนมาก
- ฉันต้องทำงานหนักเข้าไว้เพื่อตัวฉันเอง สักวันหนึ่งฉันจะได้เงยหน้าอ้าปากได้
- คนบางคนพอเงยหน้าอ้าปากได้ ก็หยิ่งผยองจองหองขึ้นมาทันใด