สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ล. วัดรอยเท้า, วัดรอยตีน
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยวัดรอยเท้า
ที่มาของสำนวน มาจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ มียักษ์ตนหนึ่งชื่อว่านนทกาล มีหน้าที่เฝ้ากำแพงประตูชั้นในรับใช้พระอิศวร หลงรักนางอัปสร ชื่อว่ามาลี จึงกระเซ้าเย้าแหย่เธอ แต่ทว่าเธอไม่ชอบใจ จึงไปฟ้องพระอิศวร พระอิศวรจึงสาปให้นนทกาล ไปเกิดเป็นควายเผือกชื่อทรพา และ จะพ้นคำสาปเมื่อถูกลูกชายตนเองฆ่าตาย นนทกาล ไปเกิดเป็นควายชื่อทรพา เมื่อโตขึ้นก็ได้เป็นจ่าฝูงคอยควบคุมควายสาวๆ และได้ควายสาวๆ เหล่านั้นเป็นเมียหมดทุกตัว เมื่อตัวใดตกลูกเป็นตัวผู้ทรพายังจำคำสาปได้ก็จะขวิดลูกให้ตายทุกตัว มีควายท้องสาวตัวหนึ่งชื่อนีลา ตั้งท้องใกล้จะตกลูก นางกลัวว่าถ้าลูกเกิดมาเป็นตัวผู้ก็จะถูกพ่อฆ่าตาย นางจึงหนีไปอยู่ในถ้ำสุรกานต์ และตกลูกมาหนึ่งตัว เป็นตัวผู้มีชื่อว่าทรพี แล้วนางก็อธิษฐานฝากเทพารักษ์ในถ้ำให้ช่วยเลี้ยงดู เทพารักษ์ก็ช่วยดูแลรักษาเป็นอย่างดี โดยสิงสถิตที่เขาทั้งสองข้าง และขาทั้งสี่ เนื่องจากกลัวว่าถ้าทรพ ทราบจะจับฆ่าเสีย เพราะว่าลูกตัวผู้ก่อนหน้านี้ทุกตัวถูกทรพา ฆ่าตายหมด เมื่อทรพีเติบใหญ่ก็ออกเดินทางตามหารอยเท้าพ่อ เมื่อพบก็จะเหยียบทาบเท้าลงไป เพื่อเป็นการวัดขนาดรอยเท้าเปรียบเทียบกันว่ารอยเท้าของตนใหญ่เท่ากับรอยเท้าของพ่อ หรือ ยัง จนวันหนึ่งพบรอยเท้ามีขนาดใหญ่เท่ากัน จึงได้ตามหาทรพา ผู้เป็นพ่อ และเมื่อได้พบก็เกิดการต่อสู้กันขึ้นทรพา ซึ่งแก่แล้วเรี่ยวแรงก็ถดถอย มีหรือจะสู้เรี่ยวแรงควายหนุ่มอย่างทรพีได้ ทรพี จึงขวิดทรพาตาย สมดังคำสาปของพระอิศวร สำนวนนี้พูดอีกแบบหนึ่งคือ วัดรอยตีน
สรุปความหมายของสำนวนนี้ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ การคิดเทียบชั้นผู้ที่เหนือกว่า การวัดหรือเทียบความสามารถของตัวเองกับผู้ที่เหนือกว่าหรือผู้มีพระคุณ เพื่อชิงดีชิงเด่น แสดงตนว่าเหนือกว่า ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความอกตัญญู
ปัจจุบันเรื่องแบบนี้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติในวงการธุรกิจ การเมือง หรือมีเรื่องของ ผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตวัดรอยเท้า
- แดงเป็นลูกศิษย์ของนักมวยชื่อดัง แต่ตอนนี้เขากลายเป็นลูกศิษย์ที่คอยแต่จะวัดรอยเท้าครู แดงไม่เคารพครู และพยายามแสดงให้คนอื่นเห็นว่าตัวเขามีความสามารถเหนือกว่าครูที่สอนเขามา
- ตอนนี้เขาก็เป็นเหมือนลูกศิษย์ที่คอยแต่จะวัดรอยเท้าครู พยายามชิงดีชิงเด่น แสดงให้คนอื่นเห็นว่าตัวเองมีความสามารถเหนือกว่าครู โดยไม่มีความเคารพครู แบบนี้จะเจริญได้อย่างไร
- เราเป็นลูกศิษย์อย่าคิดวัดรอยตีนเท้าครู เพราะครูเป็นผู้อบรมสั่งสอนเรามา เราไม่สามารถที่จะเรียนรู้วิชาที่ท่านสอนได้หมด อย่าเป็นศิษย์อกตัญญูไม่รู้คุณ
- จากเรื่องราวของทรพากับทรพีทำให้เกิดสำนวน ‘ลูกทรพี’ โดยมีความหมายว่า ลูกอกตัญญูที่ทำร้ายพ่อแม่ของตน ดังจะเห็นจากทรพีที่คิดแค้นและฆ่าทรพาผู้เป็นพ่อของตนเอง หากไม่นับเรื่องของทรพาที่ไล่ฆ่าลูกชาย การกระทำของทรพีก็เป็นการเนรคุณต่อผู้ให้กำเนิด และสำนวน ‘วัดรอยเท้า’ มีความหมายว่า คอยเทียบตัวเองกับผู้ที่เหนือกว่าเพื่อชิงดีชิงเด่น ดังเช่นที่ทรพีวัดรอยเท้าตนกับทรพาผู้เป็นพ่อเพื่อรอคอยวันที่จะต่อสู้ได้อย่างทัดเทียม
- คนรุ่นใหม่ เด็กรุ่นใหม่ทุกวันนี้ฉลาดกว่าคนรุ่นเก่า เพราะเข้าถึงความรู้ต่างๆ ได้ง่าย และมากกว่าคนรุ่นเก่า ซึ่งส่วนใหญ่ หยุดการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไปนานแล้ว เมื่อมีความรู้มากขึ้น เด็กบางคนก็เริ่มคิด วัดรอยเท้า ผู้ใหญ่ ชิงดี ชิงเด่น ไม่ให้เกียร์ติผู้ใหญ่ เพราะถือว่าตัวเองมีความรู้มากกว่า เก่งกว่า ร้อนวิชา ไม่ฟังใคร ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ เก่งกว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ก็ต้องให้เกียรติผู้ใหญ่ที่ผ่านร้อน ผ่านหนาวมาก่อนด้วย