สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ห. หัวเดียวกระเทียมลีบ
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยหัวเดียวกระเทียมลีบ
ที่มาของสำนวน มาจากลักษณะของกระเทียมโทนที่เกิดจากความไม่สมบูรณ์ จึงมีเพียงกลีบเดียว แทนที่จะมีหลายๆ กลีบเหมือนกระเทียมทั่วไป นำมาเปรียบเปรยกับคนที่มีความสามารถมากแต่ไม่ค่อยมีเพื่อนฝูง
สำนวนนี้เรียกเต็มๆ ว่า หัวเดียวกระเทียมลีบ กลีบเดียวกระเทียมโทน
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ คนที่อยู่ตัวคนเดียวไม่มีเพื่อนฝูง แต่มีความสามารถมากสามารถสู้กับคนจำนวนมากได้ หรือสามารถทำอะไรได้ดีแม้ว่าไม่มีคนช่วยเหลือ
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตหัวเดียวกระเทียมลีบ
- สำนวนหัวเดียวกระเทียมลีบ บางทีก็ใช้ว่า “หัวเดียวกระเทียมเน่า” เช่น ข้อความตอนหนึ่งในเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนสร้อยฟ้าศรีมาลาทะเลาะกัน “จริงแล้วท่านฉันนี้มันจืดจาง ได้ที่นางแล้วก็ว่าให้สาใจ ตัวข้าหัวเดียวกระเทียมเน่า ที่ว่าเราใครหาได้ยินไม่…”
- เพื่อนๆ เขาไม่มีใครจริงใจซักคน เวลาเกิดเรื่องขึ้นมา เขาก็เหมือนหัวเดียวกระเทียบลีบ แก้ปัญหาอยู่เพียงคนเดียว
- นางนวลทำงานในบริษัทแห่งหนึ่ง โดยทำแต่งานไม่สนใจใครทั้งสิ้น ไม่คบค้าสมาคมกับใคร จึงไม่มีเพื่อนในที่ทำงานเลย นี่แหละหัวเดียวกระเทียมลีบของแท้
- จะทำการใหญ่ต้องอาศัยกลไก แรงขับเคลื่อนและความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย คุณจะทำงานแบบหัวเดียวกระเทียมลีบไม่ได้ ไม่เช่นนั้นงานจะสำเร็จได้อย่างไร
- สงสารนางมลจริงๆ ต้องอยู่ตัวคนเดียว หัวเดียวกระเทียมลีบ เป็นแม่ม่ายเนื่องจากสามีและลูกตายไปหมดแล้ว ซ้ำยังไม่มีญาติพี่น้องที่ไหน จึงต้องดิ้นรนทำงานเลี้ยงตัวเองตามลำพัง ไม่มีที่พึ่งอื่น