สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ส. สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยสี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง
ที่มาของสำนวน เปรียบเปรยคนเราแม้จะมีความรู้สูงอย่างนักปราชญ์ ก็อาจผิดพลาดได้เหมือนกัน ทุกคนจึงไม่ควรประมาท แม้สัตว์สี่เท้าเช่น วัวควายซึ่งมีสี่เท้าก็ยังอาจก้าวพลาดถึงล้มลงได้ ภาษิตนี้บางทีก็มีพูดต่อไปอีกว่า “สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง สองตีนโด่เด่ คงจะเซลงบ้าง”
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ ผู้ที่มีความปราดเปรื่องหรือเก่งกาจสามารถ ก็ยังมีผิดพลาดได้ ไม่ใช่ว่าจะทำการใดๆ ได้สำเร็จลุล่วงทุกครั้งเสมอไป
โบราณที่เปรียบเทียบและสอนเอาไว้มิให้เป็นคนประมาท อย่าทะนงว่าตนเองเก่งกล้าสามารถแล้ว เพราะว่าไม่ว่าจะเก่งกาจสักเพียงใดก็ย่อมสามารถพลาดพลั้งหรือเกิดอันตรายต่อตนเองได้
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตสี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง
- แม้จะเก่งเพียงใด ก็มีโอกาสผิดพลาด หากประมาท สีตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง ลิงปีนต้นไม้เก่ง แต่ประมาท ก็ตกต้นไม้ได้ คนเก่ง คนฉลาด ก็มีวันผิดพลาดได้ โดยเฉพาะการทำงานใหญ่ มีรายละเอียดปลีกย่อยมาก ก็ย่อมจะมีโอกาสพลาดเป็นเรื่องธรรมดา
- “สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” ใช้เตือนสติคนที่มีความทะเยอทะยานมาก มีความมั่นใจในตัวเองสูง มีความทะนงในความสามารถของตนสูงเกินไปจนอาจจะไม่ฟังคำแนะนำหรือคำทัดทานของใคร ให้เพลานิสัยเหล่านั้นลงบ้าง โดยชี้ให้เห็นว่าขนาดสัตว์ที่มีสี่เท้ายังพลาดล้มได้ นักปราชญ์ผู้รอบรู้ก็ยังสามารถพลาดพลั้งได้เช่นกัน ดังนั้นจงอย่าได้ทะนงในความสามารถของตน หรือประมาทในสถานการณ์หรือความสามารถของผู้อื่น
- ในโลกนี้ไม่ว่าใครก็เคยทำผิดพลาดกันมาทั้งนั้น ดั่งสำนวนไทยที่ว่า “สี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง” เมื่อทำผิดพลาดไปก็อย่ามัวแต่เสียใจ ให้รีบหาข้อบกพร่อง แล้วนำมาพิจารณา แก้ไขข้อบกพร่องนั้น จะได้ไม่ทำผิดพลาดอีก
- อยู่ในโลกใบนี้อย่าประมาท ขนาดสี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง ต่อให้รวยล้นฟ้าขนาดไหน ถ้าประมาทในชีวิตอาจทำให้ล้มละลายได้เลย
- ตลาดหุ้นเป็นตลาดที่ยาก แม้แต่เซียนยังบอกว่าสี่ตีนยังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง เพราะไม่มีใครคาดเดาอนาคตของตลาดได้ ทำได้แค่ตามเทรนด์ตลาดไปเรื่อยๆ