สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ต. ตัดหางปล่อยวัด
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยตัดหางปล่อยวัด
ที่มาของสำนวนนี้คือ ในสมัยโบราณการตัดหางไก่แล้วนำไปปล่อยเพื่อสะเดาะเคราะห์หรือแก้เคราะห์ในสมัยโบราณ มีหลักฐานในกฎมนเทียรบาลว่า เมื่อเกิดสิ่งที่เป็นอัปมงคล เช่นมีวิวาทตบตีกันถึงเลือดตกในพระราชวัง ต้องทำพิธีสะเดาะเคราะห์ โดยเอาไก่ไปปล่อยนอกเมือง เพื่อให้พาเสนียดจัญไรไปให้พ้น ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีประกาศกล่าวถึงการนำไก่ไปปล่อยที่วัดเพื่อสะเดาะเคราะห์ สันนิษฐานว่า ไก่ที่จะนำไปปล่อยที่วัดจะตัดหางเพื่อเป็นเครื่องหมายว่าเป็นไก่ที่ปล่อยเพื่อการสะเดาะเคราะห์ด้วย
เป็นเคล็ดการนำไก่อัปมงคล มาตัดขนหางออกแล้วนำไปปล่อยวัดขจัดอัปมงคลจากบ้านจากผู้เลี้ยง ปล่อยวัดเพราะวัดเป็นพุทธสถาน พุทธจักร ขจัดสารพัดกาลกิณี สยบทุกอัปมงคล จนเป็นสำนวนกล่าวขานการตัดขาดจากกันว่า “ตัดหางปล่อยวัด”
สรุปความของของสำนวนนี้ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ ตัดขาดไม่เกี่ยวข้อง ไม่เอาเป็นธุระอีกต่อไป นิยมใช้กับคนไม่สำนึกบุญคุณ ทำดีให้ก็ไม่เห็นค่าขอตัดขาดดีกว่า จะไม่ขอยุ่งเกี่ยวด้วยกับบุคคลดังกล่าวอีกแล้ว
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตตัดหางปล่อยวัด
- คนไม่สำนึกบุญคุณ สมควรโดนตัดหางปล่อยวัด แล้ววันหนึ่งจะรู้ซึ้งถึงในสิ่งที่ตนทำกับผู้มีพระคุณ
- เด็กคนนี้ถูกพ่อแม่ตัดหางปล่อยวัดเพราะประพฤติตัวเกกมะเหรกเกเรไม่เชื่อฟังคำสั่งสอนของผู้ใหญ่
- สมชายเป็นคนไม่เอาการเอางาน วันๆ เอาแต่เที่ยวเตร่ กินเหล้าเมายา พ่อจึงตัดหางปล่อยวัดเลย
- ชีวิตผมไม่ชอบพวกเนรคุณ ผมจะไม่ปล่อยให้วนเวียนในชีวิตผม จะตัดหางปล่อยวัดทันที
- บางครั้งชีวิตต้องตัดหางปล่อยวัด คนเป็นพิษออกจากชีวิต เพื่อให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น เครียดน้อยลง เพื่อตัวเราเอง