สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ล. เลี้ยงลูกเสือลูกตะเข้ (ลูกเสือลูกจระเข้)
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยลูกเสือลูกตะเข้
ที่มาของสำนวน เปรียเปรยถึงทั้งเสือทั้งจระเข้ล้วนเป็นสัตว์ที่ดุร้าย ไม่มีใครเลี้ยงให้เชื่องได้ ลูกเสือลูกจระเข้อาจจะดูน่ารักน่าเลี้ยง แต่ถ้าเลี้ยงไปจนโตก็จะเป็นสัตว์ที่ดุร้ายตามวิสัยของมัน ยากที่ใครจะเลี้ยงให้เสือหรือจระเข้เชื่องได้ คนที่เลี้ยงลูกเสือลูกจระเข้ไว้ก็จะเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายเมื่อลูกเสือลูกจระเข้นั้นโตขึ้นนั่นเอง สำนวนนี้จริงๆ แล้วเรียกว่า “ลูกเสือลูกตะเข้ “ต่อมาเพี้ยนเป็น “ลูกเสือลูกจระเข้”
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ เปรียบคนที่เป็นลูกของศัตรูหรือลูกของคนเลวซึ่งมักจะไว้ใจไม่ได้ จะแว้งกลับมาทำร้ายเอาได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง อาจใช้เรียกลูกคนอื่นที่เอามาเลี้ยงไว้แล้วกลับอกตัญญูทำร้ายคนเลี้ยง หรือทำความเดือดร้อนให้คนเลี้ยง คนโบราณเชื่อว่าเด็กที่มีพ่อแม่เป็นคนเลว เป็นอันธพาล เป็นผู้ร้ายใจอำมหิตเปรียบเหมือนลูกเสือลูกจระเข้ อาจจะมีนิสัยเหมือนพ่อแม่ จึงไม่มีใครกล้ารับมาเลี้ยงดู
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตลูกเสือลูกตะเข้
- คุณยายสายหยุดได้นำเจ้าจุกซึ่งเป็นเด็กกำพร้ามาเลี้ยง ยายส่งเสียให้เรียนหนังสือเพื่อหวังให้เจ้าจุกเป็นคนดีมีการมีงานทำ แต่เจ้าจุกไม่ตั้งใจเรียน โดดเรียน มีเรื่องทะเลาะกับเพื่อนทุกวัน ทำให้ยายเดือดร้อนและไม่สบายใจอยู่เสมอ
- เด็กพวกนี้ลูกเสือลูกตะเข้แท้ๆ นิสัยไม่ดี ลักเล็กขโมยน้อย เธอจะกล้ารับมาเลี้ยงหรือ
- ใน “พระอภัยมณี” สุนทรภู่ เขียนกลอนไว้บทหนึ่ง “เคยเลี้ยงดูสู้ถนอมเฝ้ากล่อมเกลี้ยง เหมือนหลงเลี้ยงลูกเสือลูกตะเข้มันเหลือแสน สู้พ่อแม่ทรยศคิดทดแทน ให้หายแค้นคิดหมายไม่วายวัน”
- ภาพยนตร์จีนกำลังภายในแทบจะทุกเรื่อง ถ้าผู้ใดนำลูกศัตรูมาเลี้ยงไว้ เมื่อเด็กโตขึ้น และ รู้เรื่องราวความเป็นจริงก็จะทำการฆ่าล้างแค้นผู้ที่ชุบเลี้ยงที่เคยเป็นศัตรูของพ่อ-แม่เขา เป็นเสมือนดั่งคำโบราณที่ว่าเลี้ยงลูกเสือลูกจระเข้
- เด็กคนนี้เป็นลูกเสือลูกตะเข้แท้ๆ อุตส่าห์เอามาเลี้ยงอย่างดี ให้เล่าให้เรียน กลับพาเพื่อนมาปล้นเอาทรัพย์สินไปหมด