สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ห. หน้าสิ่วหน้าขวาน
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยหน้าสิ่วหน้าขวาน
ที่มาของสำนวนนี้ สิ่ว คือ เครื่องมือของช่างไม้หรือช่างทองเป็นต้น เป็นเหล็กแบนๆ ปลายคม มีด้ามสำหรับใช้ค้อนเป็นต้นตอกเพื่อให้ปลายสิ่วเจาะ เซาะ หรือดุนไม้หรือวัตถุต่างๆ ให้เป็นร่องหรือเป็นรูปตามต้องการ หน้าสิ่ว หมายความว่า อยู่หน้าคมสิ่ว อาจจะโดนคมสิ่วได้ง่ายๆ, ขวาน คือเครื่องมือสำหรับตัด ฟัน ผ่า หรือถากไม้ ทำด้วยเหล็กมีสันหนาปลายคม มีด้ามไม้สำหรับจับ หน้าขวาน ก็หมายถึง อยู่หน้าคมขวาน เวลาที่ช่างไม้กำลังใช้สิ่วหรือขวานทำงานอยู่ เรามักจะห้ามไม่ให้ใครเข้าไปใกล้อยู่ตรงหน้าคมสิ่วคมขวาน เพราะอาจพลาดพลั้งได้รับอันตรายได้ จึงมีสำนวนเปรียบเทียบภาวะที่อยู่ในระยะอันตราย
สรุปความหมายของสำนวน ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ อยู่ในระยะอันตรายเพราะอีกฝ่ายหนึ่งกําลังโกรธหรือมีเหตุการณ์วิกฤต หรือมีเหตุการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตหน้าสิ่วหน้าขวาน
- ช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน มีเหตุการณ์ความไม่สงบในบ้านเมือง เธอยังจะมีอารมณ์ไปเที่ยวอยู่อีกนะ
- อย่าเพิ่งให้หัวหน้าเข้าไปเจรจาตอนนี้เลย ทั้งสองฝ่ายกำลังทะเลาะกันอยู่ หน้าสิ่วหน้าขวานอย่างนี้อันตราย จะเจ็บตัวกลับมาเปล่าๆ
- คนบางคนหิวแสง ทำได้ทุกอย่าง แม้ยามหน้าสิ่วหน้าขวานของบางคน กลับกลายเป็นแย่กว่าเดิม
- ในยามที่บริษัทมีเหตุการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน พนักงานลาออกไปเป็นจำนวนมาก แต่ต้องผลิตสินค้าให้ทันตามกำหนดเดิม พวกคุณต้องร่วมไม้ร่วมมือกันรับผิดชอบงานที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่เกี่ยงงานกันทำแบบนี้
- เป็นทหารอย่าเข้าไปยุ่งกับการเมือง เวลาประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ในฐานะประเทศประชาธิปไตย เป็นช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน ละเอียดอ่อน อาจจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ