สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ก. ไก่รองบ่อน
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยสุภาษิตไก่รองบ่อน
ที่มาของสำนวน พูดถึงไก่ที่เจ้าของบ่อนเลี้ยงไว้ประจำบ่อนเพื่อเป็นตัวสำรอง ที่ยืนโรงไว้เผื่อเหลือเผื่อขาด สำหรับไว้ชนกับไก่ตัวอื่นที่ไม่มีคู่ชน ตามปกติธรรมดาธรรมชาติเจ้าของบ่อนชนไก่จะเลี้ยงไก่ชนไว้ประจำบ่อนเป็นจำนวนมาก เพื่อจัดหาไว้เป็นตัวสำรอง เผื่อว่าจำเป็นต้องนำมาชนกับไก่ที่บุคคลอื่นนำมาชน เพราะไก่ที่นำมาชนไม่มีคู่ชนที่เหมาะสม จึงเรียกว่าไก่รองบ่อน ส่วนมากไก่รองบ่อนจะเป็นรองคู่ต่อสู้ แต่บางครั้งไก่รองบ่อน อาจพลิกความคาดหมายสามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ เพราะเป็นไก่ที่ซ้อมมาเป็นอย่างดีเหมือนกัน และคอยจังหวะหาคู่ชนที่ประมาท หากชนะเจ้าของไก่ (เจ้าของบ่อน) ก็จะได้เงินพนันมากเป็นพิเศษ
สรุปความหมายของสำนวนนี้ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ ผู้ที่อยู่ในฐานะตัวสํารอง ไม่ใช่ตัวเลือกแรก ซึ่งจะเรียกมาใช้เมื่อไรก็ได้
กล่าวคือ บุคคลที่อยู่ในฐานะตัวสำรองไม่ใช่บุคคลในเป้าหมาย เมื่อบุคคลในเป้าหมายไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงจะเรียกบุคคลผู้นี้มาทำหน้าที่แทน หรือ เป็นตัวแทน และพร้อมที่จะทำงานเมื่อไรก็ได้
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตไก่รองบ่อน
- สมชายรู้สึกเสียหน้าและอับอายเป็นอย่างมากที่รู้ว่าตัวเองเป็นไก่รองบ่อน เมื่อเพื่อนร่วมงานที่เป็นคู่แข่งของเขาได้รับเลือกเป็นตัวแทนขององค์กร แทนที่จะเป็นตัวเขา
- ผมไม่ใช่ไก่รองบ่อนนะ จะเรียกใช้อะไรก็ต้องดูว่าฉันว่าง หรือ เปล่า ไม่ใช่จะมาเรียกจิกหัวใช้ตลอดเวลา
- ถ้าเธอยังยอมเขาอยู่เรื่อยๆ แบบนี้ เธอก็คงต้องเป็นไก่รองบ่อนตลอดชาติ ไม่ได้ขึ้นเป็นตัวจริงเสียที
- ทางโรงเรียนประกาศรับสมัครนักฟุบอล สมชายสนใจอยากจะเป็นนักฟุตบอลก็เลยไปสมัคร หลังจากที่ฝึกซ้อมมานานพอสมควร อาจารย์ก็เรียกตัวไปคัดตัว สมชายได้เป็นแค่ผู้เล่นตัวสำรอง แต่เขาก็พยายามมาฝึกซ้อมทุกวัน เมื่อลงสนามจะได้แสดงฝีมือให้อาจารย์เห็น หวังว่าสักวันเขาจะได้เป็นผู้เล่นตัวจริง
- นายเอกเป็นนักร้องคนหนึ่งของวงดนตรี แต่หัวหน้าวงไม่ค่อยเรียกขึ้นร้อง จะมีโอกาสได้ร้องก็ต่อเมื่อนักร้องของวงหลักไม่สบายหรือติดกิจธุระเท่านั้น นี่แหละไก่รองบ่อนของแท้