สำนวนสุภาษิตไทยหมวดหมู่ ข. เขียนด้วยมือลบด้วยเท้า
ความหมายสำนวนสุภาษิตคำพังเพยเขียนด้วยมือลบด้วยเท้า
ที่มาของสำนวน ในสำนวนนี้ คนสมัยก่อนได้ นำมือมาเปรียบเปรยถึงการทำสิ่งที่ดี และเท้าเปรียบเปรยสิ่งที่ไม่ดี ส่วนคำว่าเขียนเป็นตัวแทนของการสร้าง และคำว่าลบ คือการลบล้างหรือทำลาย จึงเกิดเป็นสำนวนนี้ บางทีคนจะเรียกว่าเขียนด้วยมือ ลบด้วยตีน ใช้ในเชิงต่อว่า เสียดสี
สรุปความหมายของสำนวนนี้ ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ คนที่เคยทำดีเอาไว้ตั้งแต่ต้นจนที่เชื่อถือ ไว้ใจ แต่พอผ่านไปภายหลังกลับทำชั่วลบล้างความดีที่ตัวเองเคยทำมาไปอย่างง่ายดาย
สำนวนนี้มักใช้กล่าวถึงคนที่เข้ามาทำดีด้วยในตอนแรก ที่คบกัน แต่พอรู้จักกัน คบกันแล้ว หรือสมประโยชน์ของตัวเองแล้ว ก็เปลี่ยนไปเป็นอีกแบบหนึ่ง กลายเป็นคนไม่ดี ไม่น่าคบหาสมาคมด้วย
ตัวอย่างการใช้สุภาษิตเขียนด้วยมือลบด้วยเท้า
- ไม่คิดเลยว่าคุณจะเขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้าแบบนี้ เราเคยร่วมกันก่อตั้งบริษัทนี้ขึ้นมา แต่ตอนนี้กลับมาว่ากล่าวทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง ด้วยฝีมือของคุณเอง
- ศรีสุดาเคยให้สัญญาไว้กับเพื่อนร่วมงานทุกคนว่าตนจะไม่ยอมถอนตัวหรือลาออกจนกว่างานชิ้นนี้จะเสร็จ แต่พอศรีสุดาเจอตำแหน่งงานใหม่ที่เงินเดือนสูงกว่า เธอก็ลาออกทันที แบบนี้ตรงกับสำนวนไทยที่ว่าเขียนด้วยมือลบด้วยเท้า
- ผู้จัดการธนาคารริเริ่มการบริการลูกค้าแนวใหม่โดยการเตรียมเครื่องดื่มและของขบเคี้ยวไว้ให้ลูกค้าที่มาใช้บริการของธนาคาร แต่มาวันหนึ่งเขากลับสั่งยกเลิกบริการนี้ด้วยเหตุผลว่าสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ (แล้วทำไมไม่คิดเรื่องนี้ก่อนริเริ่มโครงการ) เขียนด้วยมือลบด้วยเท้าแท้ๆ
- การกระทำในลักษณะ เขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้า ของบางคนนั้น เป็นไปเพื่อต้องการบางสิ่งบางอย่าง เมื่อได้อย่างที่ต้องการแล้ว ก็เปลี่ยนไป เช่น ให้คำแนะนำที่ดีในการทำอะไรบางอย่าง แต่สุดท้าย ก็เพื่อตัวเอง เพราะสิ่งที่ได้แนะนำให้ทำนั้น ตัวเองได้ผลประโยชน์
- คิดสร้างอะไรไว้ให้คน ก็ควรจะสร้างให้ถูกคน ไม่งั้นก็เหมือนเขียนด้วยมือลบด้วยเท้า สิ่งที่เราสร้างมาแทบตาย กลับโดนคนที่ไม่เห็นค่าทำลายลงอย่างง่ายดาย